บทความวิชาการ
view 553 facebook twitter mail

การพัฒนาทักษะประชากรสูงวัยของสิงคโปร์

เกี่ยวกับเอกสาร

แม้เป็นประเทศที่มั่งคั่งอันดับต้น ๆ ทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค แต่สิงคโปร์เองก็ยังคงเผชิญกับข้อท้าทายเป็นจำนวนมาก ทั้งปัญหาภายในประเทศกรณีค่าครองชีพสูง หรือความท้าทายจากภายนอกอย่างประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน

 อีกหนึ่งปัญหาที่จะกลายมาเป็นความท้าทายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือพลวัตทางประชากรที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ที่กำลังรอว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์อย่าง Lawrence Wong เข้ามาจัดการ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรเป็นข้อท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาลสิงคโปร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก และไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมากพอที่จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจของสิงคโปร์จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศของตนเป็นหลัก

เพื่อที่จะทำให้สิงคโปร์ยังคงความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินโครงการ The new SkillsFuture Level-Up Programme ที่มีเป้าหมายในการช่วยพัฒนาศักยภาพกลุ่มคน Mid-career หรือคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้พวกเขายังคงสามารถทำงานได้แม้ในสภาพแวดล้อมในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็ตาม

โครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการสนับสนุนค่าเล่าเรียนในรูปแบบ SkillFuture Credit ซึ่งมีมูลค่าราว 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมอบให้กับชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปนำไปสมัครเรียนในคอร์สที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน โดยคอร์สเรียนเหล่านี้มีจำนวนกว่า 7,000 คอร์ส  เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ในปี 2025 รัฐบาลยังเตรียมการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงคอร์สเรียนระยะยาวและคอร์สเรียนเต็มเวลา เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องกังวลหากจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อไปเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ โดยรัฐบาลจะออกเงินช่วยเหลือราว 50% ของฐานรายได้ในช่วง 12 เดือนก่อนหน้า แต่ไม่เกินเดือนละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน

โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความพยายามของสิงคโปร์ในการคงสถานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค การเตรียมความพร้อมให้กับประชากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตแล้ว ยังถือเป็นยุทศาสตร์การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive development) เนื่องจากในปัจจุบันประชากรที่อยู่ในระดับ mid career ขึ้นไปประสบกับปัญหาช่องว่างทางทักษะ (skill gap) โดยเฉพาะทักษะเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ทักษะด้านข้อมูล (data skill), cloud computing และ AI ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ปรับตัวได้ยากมากขึ้นเมื่อบริบทในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังส่งผลต่อความสามารถโดยรวมขององค์กร

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับภูมิภาคแล้ว จะพบว่าหลายประเทศก็กำลังเผชิญกับสังคมสูงอายุเช่นเดียวกับสิงคโปร์ อย่างในไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งทั้งสามประเทศนี้ต่างมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคทั้งสิ้น การขาดแคลนประชากรในวัยแรงงาน อีกทั้งประชากรที่ยังเป็นวัยแรงงานอยู่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางการทำงานใหม่ ๆ ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการเตรียมรับมือกับสังคมสูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็นย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถรักษาความสามารถทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคต่อไปได้

ผู้เขียน

ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12631 วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567
หน้า 11 (ขวา) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top