เกี่ยวกับเอกสาร
ปมขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ด้าน “เซมิคอนดักเตอร์” ทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสหรัฐฯ โน้มน้าวให้พันธมิตรอย่างญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกสารเคมีที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน อีกทั้งโน้มน้าวเนเธอร์แลนด์ให้ยุติการบริการและซ่อมแซมเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับจีน ซึ่งฝ่ายจีนก็ตอบโต้สหรัฐฯ โดยประกาศแนวทางลดการใช้เซมิคอนดักเตอร์จากบริษัท Intel และ AMD ของสหรัฐฯ ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลจีน
เป็นที่น่าสังเกตว่าความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ส่งผลให้เริ่มเกิดการแยกตัวของการค้าเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างกันแล้ว ซึ่งส่งผลดีต่ออาเซียน โดยข้อมูลจาก Trade map ชี้ว่าเมื่อปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ (HS Code 8541) จากแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด 1-3 อันดับแรกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นประเทศในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 35%, 137% และ 40% ตามลำดับ สวนทางกับการนำเข้าจากจีนที่ลดลงราว 33%
บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ นำมาสู่การช่วงชิงโอกาสการเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอาเซียน โดยประเทศที่โดดเด่น ได้แก่ เวียดนาม ที่นอกจากจะเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนแล้ว การทำข้อตกลงหุ้นส่วนรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) กับสหรัฐฯ จะเป็นอีกปัจจัยเร่งให้เกิดการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ เสนอจะถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการลงทุน เสริมสร้างศักยภาพบุคลากร รวมถึงสร้างระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามให้มีความมั่นคง
มาเลเซีย มุ่งดึงดูดการลงทุนและยกระดับเป็นผู้ผลิตระดับต้นน้ำ (front-end) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งมาเลเซียมีจุดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มาเป็นเวลากว่า 50 ปี โดยเป็นศูนย์กลางการออกแบบและพัฒนาวงจรไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microelectronics) จึงได้เปรียบในด้านห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามและมาเลเซียยังคงเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นปลายน้ำ (back-end) เช่น การประกอบ การทดสอบ และการบรรจุภัณฑ์ ยังไม่ใช่ระดับต้นน้ำ
สิงคโปร์ ได้เปรียบเหนือคู่แข่งอื่น ๆ ในการดึงดูดการลงทุนจากความพร้อมรอบด้าน โดยล่าสุด GlobalFounderies บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ลงทุนตั้งฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์ โดยชี้ว่าสิงคโปร์มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพระดับโลก
ไทยมุ่งดึงดูดการลงทุนเพื่อยกระดับเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสำเร็จก็จะส่งผลดีในฐานะที่ไทยวางบทบาทเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค รวมถึงจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย
ไทยยังเผชิญความท้าทายโดยเฉพาะด้านบุคลากร โดยแม้จะผลักดันโครงการ เช่น จัดหลักสูตรปริญญาตรี-โทด้านเซมิคอนดักเตอร์ แต่คำถามสำคัญ คือ ไทยจะผลิตบุคลากรได้เพียงพอ มีประสิทธิภาพ และเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำและค่าไฟฟ้าของไทยยังสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน
รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้โจทย์สำคัญด้านต้นทุนการผลิต ด้านบุคลากร การให้สิทธิประโยชน์ที่ต้องมั่นใจว่าจูงใจนักลงทุนมากกว่าประเทศคู่แข่ง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำได้อย่างที่คาดหวังและกลายเป็นผู้ชนะในเวทีแห่งการช่วงชิงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของภูมิภาค
ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12626 วันพุธที่ 24 เมษายน 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”