บทความวิชาการ
view 815 facebook twitter mail

อินโดนีเซียแบน Social Commerce…ได้หรือเสีย?

เกี่ยวกับเอกสาร

อินโดนีเซียเป็นตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอัตราการเติบโตสูง และน่าจับตามองมากที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน รายงาน DIGITAL 2023: INDONESIA ระบุว่า ม.ค. 2566 อินโดนีเซียมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 167 ล้านคน หรือราว 60.4% ของประชากร โดยคนอินโดนีเซียใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียต่อวันราว 3 ชั่วโมง 18 นาที สะท้อนบทบาทของโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันของคนอินโดนีเซีย

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของอินโดนีเซียมี 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Tokopedia, Shopee, Lazada, Bukalapak, Blibli และ Social commerce หรือการซื้อขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น TikTok, Facebook, Instagram

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือนกันยายน 2566  กระทรวงการค้าอินโดนีเซียได้ประกาศกฎกระทรวงที่สร้างข้อจำกัดอย่างมากแก่ Social commerce โดยห้ามผู้ให้บริการการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปแบบธุรกิจแบบ Social commerce อำนวยความสะดวกการชำระเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตน

กฎกระทรวงนี้เป็นการแบน Social commerce ในอินโดนีเซีย  แม้ว่าจะไม่ใช่การห้ามโดยเด็ดขาด แต่ก็เป็นควบคุมปัจจัยสำคัญในกระบวนการซื้อขาย ส่งผลให้ไม่สามารถเกิดการซื้อขายได้อย่างครบวงจร เหตุผลของการออกกฎกระทรวงดังกล่าวคือเพื่อปกป้อง SMEs ที่ทำการค้าผ่านหน้าร้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการเติบโตของ Social commerce และการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างชาติ  โดยพยายามทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม

SMEs ของอินโดนีเซียได้รับผลกระทบในรูปแบบยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนลดการเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง เป็นการซื้อทางออนไลน์แทน ทำให้กิจการผู้ประกอบการที่ยังขายทางหน้าร้านเพียงช่องทางเดียวซบเซา แม้แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ยังต้องปิดตัวลงในอินโดนีเซีย แต่ในอีกด้านจากผลกระทบของโควิด-19 SMEs บางส่วนก็มีการปรับตัวมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มรวมถึงใช้ Social commerce เป็นตัวสร้างรายได้เป็นอย่างดี

ผลจากออกกฎกระทรวงครั้งนี้ของกระทรวงพาณิชย์ส่งผลให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฟีเจอร์ซื้อขายต่างได้รับผลกระทบ รวมถึง TikTok เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของ TikTok รองจากสหรัฐอเมริกา โดย TikTok ใช้อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในการทดลองให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของแอปพลิเคชันเลยทีเดียว โดย TikTok มียอดขายออนไลน์เป็นอันดับ 5 ของอินโดนีเซียโดยมีส่วนแบ่งประมาณ 5% ของทั้งประเทศ และมีผู้ขายบนแพลตฟอร์มกว่า 6 ล้านคน

Social commerce เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของผู้ขาย เพิ่มโอกาสการเข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างง่ายดายและไม่เป็นทางการนัก ซึ่ง Social commerce มักถูกใช้เป็นช่องทางหลักของ SMEs และ Start-up ในการทำธุรกิจ การแบน Social Commerce เพื่อปกป้อง SMEs ย่อมต้องกระทบต่อ SMEs ที่ขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียด้วย ทั้งอาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้เลยทีเดียว

การปกป้อง SMEs ย่อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่การปรับตัวของ SMEs ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งการไหลเข้ามาของสินค้าต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การแบน Social commerce ของอินโดนีเซียนี้จึงมีทั้งได้และเสีย  แต่เมื่อรัฐบาลอินโดนีเซียมีความเห็นห้ามมิให้ซื้อขายสินค้าผ่าน Social media ส่วนที่เป็นข้อเสียก็คงต้องยอมรับและนำไปสู่การปรับตัวในขั้นต่อไป

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12491 วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 815 facebook twitter mail
Top