เกี่ยวกับเอกสาร
สถานการณ์ในจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญได้ทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นหลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNU เข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของเมียวดีจากรัฐบาลเมียนมาได้สำเร็จ ตามมาด้วยการส่งเครื่องบินของรัฐมาลงที่ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตากกลางดึกวันที่ 7 เม.ษ. ที่ผ่านมาเพื่อรับเจ้าหน้าที่จากเมียวดีลี้ภัยกลับเมียนมา
แม้สถานการณ์บริเวณด่านเมียวดี-แม่สอดยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ในเมียวดี ณ เวลานี้จำเป็นต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเป็นปกติวิถีบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ทั้งมิติมนุษยธรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในอาเซียน
ด่านพรมแดนเมียวดี-แม่สอด เป็นช่องทางสำคัญในการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา โดยมูลค่าการค้าบริเวณด่านศุลกากรแม่สอดในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-ก.ย.) ไทยนำเข้าสินค้าจากเมียนมาผ่านด่านเมียวดีมูลค่ากว่า 15,073 ล้านบาทในกลุ่มสินค้าเมล็ดข้าวโพด แป้งข้าวจ้าว โค-กระบือ เศษอะลูมิเนียมเก่า และพริกสด พริกแห้ง ฯลฯ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปเมียนมาผ่านด่านนี้มูลค่าสูงถึง 97,104 ล้านบาท ในกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ น้ำมันดีเซล เม็ดพลาสติก น้ำมันปาล์มโอลีน เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซิน ฯลฯ
การค้าชายแดนที่เกิดขึ้นบริเวณด่านฯ แม่สอด-เมียวดีมีมูลค่าเกินกว่า 50% ของการค้าชายแดนไทย-เมียนมารวมกันทุกด่าน สูงกว่าด่านฯ สังขละบุรี ด่านฯ ระนอง และด่านฯ แม่สาย พรมแดนแม่สอด-เมียวดีจึงเป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย และเป็นเส้นเลือดหลักในการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมและปากท้องของประชาชนในเมียนมา อย่างไรก็ตาม จากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างไทย-เมียนมาในปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ถึง 18%
มูลค่าการค้าผ่านแดนที่ไทยส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ผ่านชายแดนเมียนมายังมีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับการค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้านด้านอื่น ๆ ทั้งที่เชิงภูมิเศรษฐกิจเมียวดีมีสถานะเป็นประตูการค้าที่มีศักยภาพแฝง เป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจเชื่อมโยงอาเซียนสู่เอเชียใต้
อินเดีย เมียนมา และไทย มีความร่วมมือไตรภาคีในโครงการทางหลวงเชื่อม 3 ประเทศ หรือ India–Myanmar–Thailand Trilateral Highway Project เชื่อมเส้นทางตั้งแต่ด่านฯ แม่สอด จังหวัดตาก – เมียวดี มัณฑเลย์ เมียนมา – โมเรห์ ตะมู รัฐมณีปุระ อินเดีย รวมระยะทาง 1,400 กม. หากเสร็จสมบูรณ์สามารถย่นระยะเวลาเดินทางได้ภายใน 1 วัน ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศให้ความเห็นชอบโครงการตั้งแต่ปี 2545 เริ่มก่อสร้างปี 2555
ปัจจุบันทางการอินเดียประเมินว่าการก่อสร้างเส้นทางแล้วเสร็จประมาณ 70% เส้นทางนี้เป็นโอกาสสำคัญในการขนส่งสินค้าทางบกซึ่งสามารถกระจายสินค้าได้เร็วขึ้น เนื่องจากระบบขนส่งทางบกและทางรางในอินเดียค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปอินเดียทางเรือผ่านสิงคโปร์ใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 สัปดาห์
การเชื่อมโยงเส้นทาง 3 ประเทศนอกจากจะยังมีประโยชน์ต่อเส้นทางการค้าแล้ว ยังเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงระบบสาธารณสุข การเข้าถึงการศึกษา และการท่องเที่ยวให้กับประชาชนทั้ง 3 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้พาดผ่านพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลเมียนมา ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงในการขนส่งระหว่างประเทศ กระทบต่อความคืบหน้าการก่อสร้างและยังไม่สามารถเปิดใช้ประโยชน์เส้นทางเชื่อม 3 ประเทศได้
ความเป็นไปในเมียนมาจึงส่งผลกระทบต่อไทย ไม่ใช่เพียงมิติความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศในอาเซียนช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้น แต่เป็นการเสียโอกาสในการวางรากฐานการเชื่อมโยงระยะยาวของภูมิภาค ซึ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกทางสปป.ลาว และเวียดนาม ไปสู่จีน แต่การเชื่อมโยงเส้นทางตะวันตกผ่านเมียนมาไปสู่อินเดียเป็นอีกโอกาสสำคัญที่อาเซียนมิควรปล่อยให้สูญหายไปในกระแสความขัดแย้ง
ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12616 วันพุธที่ 10 เมษายน 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”