บทความวิชาการ
view 408 facebook twitter mail

ยกระดับอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามพรมแดน

เกี่ยวกับเอกสาร

การขนส่งข้ามพรมแดนเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากเพื่อให้สินค้าและบริการสามารถผ่านข้ามพรมแดนไปได้อย่างรวดเร็ว ง่าย ด้วยต้นทุนที่ถูก ด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน จะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

อาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกการขนส่งที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาในภูมิภาค โดยอาเซียนมีการประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียน (ATM) เพื่อกำหนดทิศทางภาคการขนส่งและประเด็นอื่น ๆ และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่ง (STOM)

โดยมีคณะทำงานหลายคณะเพื่อขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมการดำเนินงานประเด็นต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การขนส่งอาเซียน 2559-2568 ทั้งคณะทำงานการขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และคณะทำงานการอำนวยความสะดวกทางการขนส่งด้วย

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน (ตอนใต้) ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งอย่างต่อเนื่อง แต่กฎระเบียบ ความตกลงระหว่างประเทศ และกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสินค้าและบริการผ่านข้ามแดนใน GMS ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุด

GMS ได้มีการจัดทำข้อริเริ่มสำคัญอย่าง กรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เพื่อยกระดับการขนส่งและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดน ปรับปรุงกฎระเบียบและข้อกำหนดด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารให้เรียบง่ายและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

ความตกลง GMS CBTA เริ่มมีผลใช้บังคับในปี 2558 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศและการขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ในทางปฏิบัติพบว่ายังมีการใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวน้อย นำไปสู่การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์ความตกลงด้วยการลงนามใน MoU Early Harvest ในปี 2561

แต่การใช้ประโยชน์ความตกลง GMS CBTA กลับต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกประเทศใน GMS ปิดด่านพรมแดนระงับการเดินทางข้ามแดนและการขนส่งสินค้าภายใต้การควบคุมตามมาตรการสาธารณสุข

และแม้ว่าภายหลังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงและมีการเปิดด่านพรมแดนบางแห่งตามปกติ แต่มาตรการเหล่านี้ยังคงบังคับใช้อยู่ถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ฟื้นตัวขึ้นหลังโควิด-19 ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลง GMS CBTA อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การขนส่งข้ามพรมแดนในอาเซียนและ GMS ยังมีอุปสรรคและข้อท้าทายทั้งในด้านการปฏิบัติและกฎระเบียบด้านการขนส่งที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ในการยกระดับการขนส่งข้ามพรมแดนจึงต้องเร่งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันการใช้ประโยชน์ความตกลง GMS CBTA อย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม

ติดตามผลการวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์ความตกลง GMS CBTA ได้ในงาน ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export วันที่ 4 เม.ย. 2567 รายละเอียด www.itd.or.th

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12611 วันพุธที่ 3 เมษายน 2567
หน้า 8 (ล่างขวา) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top