บทความวิชาการ
view 985 facebook twitter mail

เวียดนาม 2045 ประเด็นการพัฒนาและความท้าทาย

เกี่ยวกับเอกสาร

ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงและฐานการบริโภคขนาดใหญ่ด้วยประชากรเกือบ 90 ล้านคน  เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากทั่วสารทิศหลั่งไหลสู่เวียดนามเพื่อสร้างฐานการผลิต ทั้งเพื่อการขายในประเทศและการส่งออก เวียดนามมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าถึง 54 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 16 ฉบับซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการส่งสินค้าไปขายในตลาดต่างประเทศ

เวียดนามตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2045 การก้าวผ่านจากประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีความท้าทายหลายประการ  รายงานวิจัยเรื่อง Viet Nam 2045: Development Issues and Challenges เผยแพร่โดย ERIA ได้เสนอมุมมองเชิงนโยบายไว้ดังต่อไปนี้

เวียดนามกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดจะเริ่มลดลงตั้งแต่ทศวรรษ2020 ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาศัยแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตจะลดพลังการขับเคลื่อนลง เวียดนามจึงต้องเร่งการพัฒนาผลิตภาพการผลิตด้านมหภาค การยกระดับอุตสาหกรรม โดยปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมจากที่เติบโตโดยใช้ปัจจัยการผลิตมาเป็นการเติบโตจากนวัตกรรม

การจะทำให้การเติบโตจากนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักได้นั้น เวียดนามต้องเร่งการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีทักษะสูง พัฒนาอุปสงค์ของแรงงานในตลาดแรงงานให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคชนบทมาสู่เมือง ยกระดับการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานทั้งด้านสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพแรงงานในระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพฝีมือแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานอยู่แล้ว และอาจจำเป็นต้องส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ

เวียดนามต้องเร่งพัฒนาตลาดทุนพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจในประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายใต้ดอกเบี้ยที่เหมาะสม ธนาคารพาณิชย์ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือของวิสาหกิจที่ยื่นขอกู้เงิน  เวียดนามจำเป็นต้องจัดตั้งสถาบันการเงินที่ให้บริการเฉพาะSMEs รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการวางแผนการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีบทบาทในการจ้างงานของประเทศให้มากขึ้น

ด้านนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม เวียดนามควรส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมการแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรมของชาวเวียดนามและอุตสาหกรรมของนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันระหว่างกิจการของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการดั้งเดิม ทั้งนี้ต้องเชื่อมั่นว่าการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นประโยชน์ระยะยาว

ประเด็นสำคัญของการเป็นประเทศที่รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ คือ การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เวียดนามประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ บริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเข้าไปตั้งโรงงานเพื่ออาศัยเวียดนามเป็นฐานการผลิต เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยถือปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนั้นเวียดนามต้องเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศให้สามารถร่วมมือกับบริษัทต่างชาติเพื่อผลิตสินค้าที่ทันสมัยเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นต้นและขั้นกลางจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงอยู่   ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก การก้าวผ่านสู่ประเทศพัฒนาแล้วของเวียดนามมีความท้าทายที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12601 วันพุธที่ 20 มีนาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top