บทความวิชาการ
view 1047 facebook twitter mail

จับตานโยบายรัฐบาลใหม่อินโดนีเซีย

เกี่ยวกับเอกสาร

อินโดนีเซียได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อ 14 ก.พ. 2567  ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นพบว่า ปราโบโว ซูเบียนโต้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีวัย 72 ปี อดีตนายพลผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลซูฮาร์โต้ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลปัจจุบัน ลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กับผู้สมัครรองประธานาธิบดีคือ กิบรัน รากาบูมิง รากา วัย 36 ปี บุตรชายประธานาธิบดี โจโก วิโดโด โดยทั้งคู่มีคะแนนนำอยู่ที่ 58.84%  คู่แข่งมีคะแนนตามอยู่ที่ 24.43% และ 16.73% จึงมีแนวโน้มสูงที่ ปราโบโว-กิบรัน จะขึ้นเป็นผู้นำคนที่ 8 ของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียประสบปัญหาประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ค่าของชีพสูง และอัตราการว่างงานสูง จึงชูนโยบายการส่งเสริมและปกป้องตลาดภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำภายในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และเพิ่มอัตราการจ้างงานในประเทศ โดยเปิดรับการลงทุนจากทุกประเทศและทุกบริษัท ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย ใช้วัตถุดิบในอินโดนีเซีย และจ้างแรงงานชาวอินโดนีเซีย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แม้ปราโบโวจะยืนยันการยอมรับในหลักการค้าเสรี (Free Trade) แต่ในทางการดำเนินนโยบายจริง ต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจของอินโดนีเซียต่อไป

  อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ ยังขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง นโยบายเศรษฐกิจของปราโบโวถูกวิจารณ์ว่ามิได้แปลกใหม่ไปจากนโยบายของรัฐบาลโจโก วิโดโด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสานต่อนโยบายระงับการส่งออกสินแร่สำคัญ เช่น นิกเกิล เพื่อส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออก รวมถึงการตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

ด้านนโยบายต่างประเทศของปราโบโว-กิบรัน ประกาศนำหลักการ “อิสระและกระตือรือร้น” (Bebas dan Aktif) ซึ่งเป็นหลักการต่างประเทศของอินโดนีเซียตั้งแต่การก่อตั้งประเทศในช่วงสงครามเย็น โดยปราโบโวเน้นย้ำว่าจะนำหลักการนี้กลับมาใช้ในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศและปฏิเสธการร่วมวงการปิดล้อมของประเทศมหาอำนาจฝ่ายใด ปราโบโวมองว่าการวางท่าทีแบบเป็นกลางจะสร้างเสถียรภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

แม้ปราโบโวจะมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่ปราโบโวยังคงรักษาอัตลักษณ์การต่างประเทศของอินโดนีเซียในเวทีโลก ผ่านการยกระดับการทูตเพื่อส่งเสริมสันติภาพทั่วโลก เช่น กรณียูเครนและฉนวนกาซ่า

หากปราโบโว-กิบรันจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จจะสามารถรักษาสถานภาพความเป็นกลางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับทุกประเทศตามถ้อยแถลงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้จริงหรือไม่นั้นต้องจับตามองในระยะยาว เนื่องจากในทางปฏิบัติ อินโดนีเซียเป็นผู้เล่นสำคัญทั้งทวิภาคีและพหุภาคี เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็พึ่งพิงการลงทุนจากจีนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในอินโดนีเซียสูงเป็นอันดับที่ 2 นำหน้าการลงทุนจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีสัญญาณที่ชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจการเมืองของอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะมีความเป็นชาตินิยมอย่างเข้มข้นขึ้นในการเสริมสร้างเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และมั่นคงภายในประเทศ เช่นเดียวกับการปรับปรุงมาตรการการนำเข้า-ส่งออกในกรณีสินแร่ที่เข้มข้นขึ้นในช่วงปลายสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

นอกจากนั้นอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในประชาคมการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของอาเซียนมาตลอด 57 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียน ในฐานะประเทศที่มีจำนวนประชากร พื้นที่ ทรัพยากร และเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของภูมิภาค ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในอินโดนีเซียย่อมส่งผลต่อความเป็นไปของอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12586 วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top