บทความวิชาการ
view 740 facebook twitter mail

บทบาทอาเซียนใน ‘ตลาดผลไม้จีน’

เกี่ยวกับเอกสาร

นับตั้งแต่ปี 2559 จีนมีแนวโน้มการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สาเหตุจากอุปสงค์ผลไม้เมืองร้อนที่มีมากขึ้นในประเทศ ข้อมูลล่าสุดปี 2566 การนำเข้าผลไม้ของจีนมีมูลค่ากว่า 16,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565  ผลไม้ที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนสด (40%) เชอร์รี่ (16%) ทุเรียนแช่แข็ง (6%) กล้วยหอม (6%) มังคุด (4%) และมะพร้าว (4%)

แหล่งนำเข้าผลไม้ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ประเทศเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการค้าผลไม้อาเซียนในตลาดจีน ในปีที่ผ่านมาประเทศจากอาเซียนมีการแข่งขันกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในทุเรียนสดที่จีนมีการอนุญาตนำเข้าจาก ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์  ในอนาคตการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจะมีเพิ่มขึ้นอีก หากมาเลเซียสามารถขออนุญาตส่งออกทุเรียนสดได้ในปีนี้

ตลาดผลไม้ในจีนมีขนาดใหญ่และทิศทางการเติบโตยังสดใส ส่งผลให้จีนยังคงเป็นตลาดผลไม้ศักยภาพสูงของอาเซียน ปัจจุบันในการนำเข้าผลไม้ จีนจะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการค้าระหว่างกัน ทั้งในข้อกำหนดด้านกฎระเบียบที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามทั้งกฎหมายควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหาร กฎหมายกักกันโรคพืชและสัตว์นำเข้าส่งออก เป็นต้น

            จีนยังเป็นผู้นำในการร่วมมือกับประเทศในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันในการพัฒนาและอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนได้ตั้งศูนย์ซื้อขายผลไม้จีน-อาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2566  ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม เพื่อเป็นศูนย์การซื้อขายผลไม้นำเข้า-ส่งออกผ่านทางบกแบบครบวงจร โดยที่ตั้งนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศในอาเซียนทั้งสปป.ลาว และไทย

เมื่อเดือนธันวาคม 2566 จีนและเวียดนามมีการยกระดับความร่วมมือโดยมีการเปิดตัวด่านหลงปัง (เขตฯ กว่างซีจ้วง จีน) และด่านจ่าหลินห์ (จังหวัดกาวบั่ง เวียดนาม) หลังจากได้ยกระดับเป็นด่านสากล ซึ่งเป็นด่านที่มีความทันสมัย รองรับการใช้รถไร้คนขับในขนถ่ายสินค้า รองรับการขนส่งตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นหนึ่งในด่านน่าสนใจในการกระจายผลไม้ไปยังภาคตะวันตกของจีนในอนาคต

ปัจจุบันไทยขนส่งผลไม้ไปยังจีนได้หลากหลายชนิดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเส้นทางบกในการขนส่งผลไม้มีการขนส่งทั้งเส้น R3A, R9, R12 และเส้นทางด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งเส้นทางเหล่านี้ไทยต้องขนส่งผ่านสปป.ลาว และเวียดนาม การพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศดังกล่าว ไทยก็จะได้รับประโยชน์ในการโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่โอกาสก็จะมาพร้อมกับความท้าทายเสมอ

ไทยไม่ได้มีพรมแดนติดกับจีน ทำให้ไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างที่จีนให้กับประเทศอาเซียนชายแดน เช่น นโยบายการค้าชายแดนในการยกเว้นภาษีนำเข้า และ VAT  รวมทั้งประเทศเหล่านั้นมีต้นทุนค่าขนส่งผลไม้ที่ต่ำกว่า และระยะเวลาการขนส่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขนส่งผลไม้ที่น้อยกว่าไทย นอกจากนี้จีนยังมีความพยายามผลิตทุเรียนเองเพื่อหนุนความต้องการของตลาดในประเทศ

ดังนั้นไทยในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำของอาเซียนในตลาดผลไม้จีน ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับทั้งโอกาสและความท้าทายทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพผลไม้ให้ได้มาตรฐาน และศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อควบคุมต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ในตลาดผลไม้จีนต่อไป

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12576 วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 740 facebook twitter mail
Top