บทความวิชาการ
view 468 facebook twitter mail

เร่งขับเคลื่อนเกษตรอาเซียนสู่ความยั่งยืน

เกี่ยวกับเอกสาร

การเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของอาเซียน เช่น GDP ภาคเกษตรในเมียนมาและสปป.ลาวคิดเป็นกว่า 40% ของ GDP รวม โดยหลายปีที่ผ่านมาภาคเกษตรทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคาม ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การเสื่อมโทรมของที่ดิน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ภาคเกษตรซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้และอาหารของอาเซียนสามารถดำเนินต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องมีการหาแนวทางในการจัดการและรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

            ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ครั้งที่ 44 ได้มีการรับรอง “แนวทางภูมิภาคอาเซียนเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนในอาเซียน” (ASEAN Regional Guidelines for Sustainable Agriculture in ASEAN) โดยแนวทางการปฏิบัตินี้เน้นย้ำถึงการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การใช้ปัจจัยการผลิตจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการหมุนเวียนในการเกษตร การใช้ปัจจัยการผลิตที่คุ้มต้นทุนนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

            แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาตลาดอาหารที่ยั่งยืนของอาเซียน เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าและระเบียบต่าง ๆ ที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการเกิดโควิด-19 และเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากภายนอก ช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นในห่วงโซ่อุปทานโลกทั้งในด้านคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในอาเซียน

            ในปี 2566 ERIA ได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแผนปฏิบัติการการเกษตรที่ยั่งยืนในอาเซียนดังกล่าว ไว้ 5 ประการ ได้แก่ (1) เมื่อพิจารณากำหนดนโยบายต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศเนื่องจากการศึกษาพบว่ายังมีความแตกต่างระหว่างประเทศ CLMV และประเทศที่ไม่ใช่ CLMV อย่างมีนัยสำคัญ (2) ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์มีระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้สมาชิกอาเซียนสามารถใช้เป็นหลักในการพัฒนาแผนปฏิบัติระดับประเทศและภูมิภาคได้

            ต่อมา (3) ควรมีการรวมกลไกการสนับสนุนด้านการเงินและการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การดำเนินการในแผนปฏิบัติต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักที่ระบุไว้ในแผน และแผนควรมีรายละเอียดเพื่อติดตามและประมวลผลได้ และประการสุดท้าย (5) ควรมีการสำรวจโครงการนำร่อง โดยคำนึงถึงผลลัพธ์และความยั่งยืนในระยะยาว

            แนวทางแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนแผนที่ในการนำทางให้อาเซียนสร้างเกษตรยั่งยืนร่วมกัน ที่ผ่านมาไทยได้มีการริเริ่มปรับตัวแผนการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนแล้ว เห็นได้จากนโยบายที่ผ่านมาของภาครัฐ นอกจากนี้ในเป้าหมายภาครวมของภูมิภาคอาเซียนยังคงต้องอาศัยความร่วมมือและประสานงานอย่างจริงจังเพื่อการพัฒนาทั้งสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12486 วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 468 facebook twitter mail
Top