เกี่ยวกับเอกสาร
การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมดิจิทัลในโลกปัจจุบันส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้แพร่หลาย อาเซียนได้เริ่มดำเนินงานกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองอาเซียน ตั้งแต่ปี 2564
กรอบความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงาน ได้แก่ 1. การดำเนินงานให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและไม่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการลดช่องว่างทางดิจิทัล
2. การพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชากรอาเซียน ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ทางไกลเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา การมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านอีคอมเมิร์ซและบริการทางการเงินดิจิทัล เชื่อมต่อกับการบริการและข้อมูลของรัฐบาล การให้บริการสุขภาพทางไกลโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือด้อยโอกาส การใช้เทคโนโลยีเพื่อประเมินข้อมูลดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ อำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างปลอดภัย ต่อต้านภัยคุกคามทางออนไลน์และอาชญากรรมทางไซเบอร์
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านดิจิทัล โดยออกแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ ผลักดันการใช้ดิจิทัลให้ครอบคลุมการให้บริการแก่ประชากรทุกกลุ่ม ส่งเสริมให้ประชากรแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นได้ทั่วโลก ร่วมมือในโครงการริเริ่มระดับภูมิภาค เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ
การดำเนินงานภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) เพื่อพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมดิจิทัล เช่น ด้านสุขภาพ โดยดำเนินการตามประเด็นการพัฒนาด้านสุขภาพอาเซียน ปี 2564-2568 ด้วยการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชีวภาพเสมือนของอาเซียน และพัฒนาระบบประสานงานในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน (APHECS) เพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ในระดับภูมิภาค
ด้านวัฒนธรรม อาเซียนได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดเนื้อหามรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียนในรูปแบบดิจิทัล การจัดทำการจำลองภาพเสมือนจริงแหล่งมรดกโลกของอาเซียน ด้านการศึกษา โดยให้การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียนในปี 2565 เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเรียนการสอน ส่งเสริมระบบนิเวศการศึกษารูปแบบดิจิทัลที่ปลอดภัย
ด้านการขจัดความยากจน ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ปี 2564-2568 และการประชุมเชิงปฏิบัติการในการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและหมู่บ้านอัจฉริยะเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหมู่บ้าน
ด้านการจัดการรับมือกับภัยพิบัติ โดยจัดทำรายงานการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อมุ่งสู่ความสามารถในการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอแนะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการจัดการภัยพิบัติ มุ่งเน้นความสำคัญของการเพิ่มความรู้ด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างการตอบสนองกลไกและสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ
ด้านแรงงาน อาเซียนมีกลไกดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานเพื่อการแข่งขัน การมีภูมิต้านทาน และความคล่องตัวสำหรับงานในอนาคต ซึ่งมุ่งมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางโดยการเตรียมประชากรแรงงานอาเซียนให้มีความพร้อมสำหรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
การดำเนินงานเพื่อให้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนมุ่งผลสัมฤทธิ์การเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของประชากร รวมถึงพัฒนาศักยภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจรองรับตลาดออนไลน์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12571 วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”