บทความวิชาการ
view 419 facebook twitter mail

นโยบายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มของสิงคโปร์

เกี่ยวกับเอกสาร

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนไปแล้ว การขยายตัวของการใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงสิทธิและสวัสดิการของแรงงานที่ทำงานอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น คนขับขี่รถรับจ้าง รับส่งเอกสาร รับส่งอาหาร แม่บ้าน ซึ่งได้พึ่งพาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ

ในขณะเดียวกันด้วยความที่แรงงานแพลตฟอร์ม (Platform Workers) ดังกล่าวเป็นแรงงานรูปแบบใหม่ จึงทำให้ในหลายประเทศ สถานะทางกฎหมายของแรงงานประเภทนี้ยังคงคลุมเครือ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงขอยกตัวอย่างกล่าวถึงนโยบายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ นโยบายแรงงานแพลตฟอร์มของสิงคโปร์ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2024 นี้ ซึ่งถือเป็นตัวแบบเชิงนโยบายที่สำคัญในการรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 นี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะเริ่มดำเนินการบังคับใช้นโยบายแรงงานแพลตฟอร์มที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแรงงานแพลตฟอร์ม โดยนโยบายใหม่นี้จะช่วยให้แรงงานแพลตฟอร์มเข้าถึงสวัสดิการและเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แรงงานแพลตฟอร์มได้รับการปกป้องและสามารถต่อรองเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเองมากยิ่งขึ้น

นโยบายดังกล่าวได้อนุญาตให้แรงงานเหล่านี้สามารถที่จะจัดตั้งองค์กรตัวแทนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสหภาพแรงงานของตนได้ องค์กรตัวแทนนี้จะมีสถานะเป็นตัวแทนของแรงงานแพลตฟอร์มในสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีอำนาจตามกฎหมายในการลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ

นอกจากนี้แรงงานแพลตฟอร์มยังสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เหมือนแรงงานทั่วไปอีกด้วย เพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและมีความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ ซึ่งจะบังคับใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงไป ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจะให้ระบบสมัครใจในการเข้าร่วมระบบประกันสังคม โดยแรงงานจะเป็นผู้ชำระเงินสมทบประกันสังคมส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งมาจากบริษัทแพลตฟอร์มในอัตราที่ต่ำกว่าแรงงานทั่วไป ในปี 2024 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับแรงงานทั่วไปในอีกห้าปีข้างหน้า

ในกรณีของการได้รับบาดเจ็บขณะทำงานซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงและสามารถก่อให้เกิดความไม่มั่งคงทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มที่มีรายได้ไม่แน่นอนนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มเป็นผู้ซื้อประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน (work injury compensation insurance) ให้กับแรงงานในแพลตฟอร์มของตนเอง นอกจากนี้ยังกำหนดให้จัดตั้ง Platform Workers Work Injury Compensation Implementation Network (PWIN) ทำหน้าที่ในการดำเนินการและพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน โดยภายใน PWIN จะประกอบไปด้วย บริษัทแพลตฟอร์ม บริษัทประกัน และคณะกรรมการไตรภาคี

กรณีของสิงคโปร์นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนในการปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานในโลกสมัยใหม่ได้รับผลกระทบจากช่องว่างทางนโยบายที่ไม่ได้รองรับสิทธิและสวัสดิการของแรงงานเหล่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยคงคุ้นชินกับข่าวการประท้วงของแรงงานแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของแรงงานเหล่านั้นที่มีต่อสภาพการทำงานของพวกเขา การแก้ไขปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์มจึงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลไทยเองจำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ได้ เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจแฟลตฟอร์มได้กลายเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12566 วันพุธที่ 31 มกราคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top