บทความวิชาการ
view 444 facebook twitter mail

ภาวะประชากรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เกี่ยวกับเอกสาร

องค์การสหประชาชาติโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ได้จัดทำรายงานประชากรและการพัฒนาแห่งเอเชีย-แปซิฟิก 2023 (Asia-Pacific Population and Development Report 2023) โดยได้นำเสนอสถิติด้านประชากรและข้อมูลการประเมินผลการพัฒนาเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโนบายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรทั้งโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้มีพัฒนาการด้านประชากรที่ดีขึ้นหลายประการ จากเดิมเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำสู่ภาวะที่มีอัตราการเจริญพันธุ์สูง มีการอพยพย้ายถิ่นสูง ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง มีพัฒนาการด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพ ภาวะโภชนาการ สุขอนามัย การศึกษา ที่พักอาศัย รวมทั้งจำนวนคนจนลดลง 

ปี 2023 พัฒนาการด้านประชากรของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ก้าวสู่ทางแยกที่สำคัญ เนื่องจากเผชิญกับภาวะแนวโน้มใหม่ด้านประชากร การก้าวสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง ความท้าทายด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ ความขัดแย้งและสงคราม รวมทั้งเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ต้องเร่งปรับตัว

            ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีประชากรรวมทั้งสิ้น 4.7 พันล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 พันล้านคนในปี 2050 คาดว่าประชากรวัยแรงงานซึ่งมีอายุระหว่าง 15-64 ปีจะมีจำนวนประมาณ 3.3 พันล้านคนในช่วงกลางทศวรรษ 2030  ประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีคาดว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวจาก 697 ล้านคนในปี 2023 เป็น 1.3 พันล้านคนในปี 2050 อายุคาดการณ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 42.9 ปีในปี 1950 เป็น 74.9 ในปี 2023  อย่างไรก็ตามอายุคาดการณ์เฉลี่ยแตกต่างกันสูงในแต่ละพื้นที่ 

การเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาวะการคลังด้านการสาธารณสุข การจ้างงานและการลดความยากจนซึ่งดีขึ้นในภาพรวม แต่ความเหลื่อมล้ำและความไม่เทียมกันเพิ่มมากขึ้นในระดับระหว่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรที่อาศัยในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมืองเพิ่มสูงขึ้น แรงงานผู้หญิงที่ทำงานนอกระบบมีสัดส่วนสูง เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีประสบภาวะการว่างงานสูงกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยของแรงงานทั่วไป 

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม รวมทั้งภัยพิบัติ โดยปี 2021 มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียมากกว่า 100 เหตุการณ์ โดย 80% เป็นน้ำท่วมและพายุ ซึ่งส่งผลให้ประชากรเสียชีวิต 4 พันคน โดยรวมประชากรมากกว่า 48 ล้านคนได้รับผลกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจถึง 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภาวะด้านประชากรและการพัฒนาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชากรแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  นโยบายที่ให้ความสำคัญกับการมองไปสู่อนาคตที่ดีโดยคำนึงผลกระทบของคนรุ่นหลัง  ส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นก่อให้เกิดผลบวกต่อประชากรกลุ่มผู้หญิง การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย การยกระดับความเป็นเอกภาพของสังคม  ยกระดับการคุ้มครองทางสังคม การให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12541 วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566
หน้า 8 (ล่างขวา) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top