เกี่ยวกับเอกสาร
เศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านอยู่ในภาวะที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการทั้งจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากภาวะโรคระบาด โลกก็ต้องเผชิญกับภาวะสงครามซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวจักรเศรษฐกิจโลกได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่มีภาระหนี้จากการกู้ยืมต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพในการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายของประเทศกำลังพัฒนาลดลง จึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น
รายงานการค้าและการพัฒนา ปี 2023 (TDR 2023) ของอังค์ถัด (UNCTAD) ชี้ว่า สภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง ถือเป็นความท้าทายต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะยังฟื้นตัวไม่เต็มรูปแบบจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อผนวกรวมกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญอยู่แล้ว
ประกอบด้วยการพึ่งพาภาคการส่งออกมากเกินไป การขาดแคลนเทคโนโลยีและนวัตกรรม คุณภาพแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง การเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมากยิ่งขึ้น การผชิญกับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการแบ่งกันของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เริ่มรุนแรงขึ้น
อังค์ถัดเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาสร้างความสมดุลระหว่างนโยบายการเงิน การคลัง และมาตรการด้านอุปทาน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินและก่อให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนและการสร้างงาน ทั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาควรมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางการเงินและความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว การทำงานเชิงบูรณาการระหว่างสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว
รายงานฉบันนี้คาดการณ์ว่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศปี 2023 เติบโตเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในระยะกลางการค้าโลกมีแนวโน้มกลับไปเติบโตในอัตราที่เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดีในระยะอันใกล้นี้การเติบโตของการค้าโลกจะยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต
การคาดการณ์อังค์ถัดน่าจะเป็นสัญญาณให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องกลับมาพิจารณาถึงความร่วมมือกันให้มากขึ้น ทั้งการมุ่งยกระดับการค้ากันเองในภูมิภาคโดยการลดมาตรการทางการค้าระหว่างกัน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน การสร้างความเป็นเอกภาพในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค รวมทั้งการกำหนดท่าทีร่วมกันให้ชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ประเทศพัฒนาแล้วได้นำมาบังคับใช้กับการค้าระหว่างประเทศ
ITD ได้จัดงาน TDR 2023: A Vision for ASEAN’s Inclusive Growth โดยเชิญนักเศรษฐศาสตร์ของ UNCTAD มานำเสนอสาระสำคัญของรายงานและเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการพัฒนาระดับภูมิภาคและระดับประเทศมาร่วมอภิปรายเพื่อนำเสนอมุมมองและทิศทางใหม่เพื่อรับมือกับวิกฤติหลายมิติของโลก ติดตามได้ที่ Facebook ของ ITD-International Institute for Trade and Development ในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12531 วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”