บทความวิชาการ
view 669 facebook twitter mail

ท่าทีอาเซียนต่อการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

เกี่ยวกับเอกสาร

แม้ความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนบรรเทาลง แต่การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ (Economic Coercion) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศยังคงปรากฏขึ้นอยู่เป็นระยะๆ ปัจจุบันหลายประเทศตีความว่าการบีบบังคับทางเศรษฐกิจถือเป็น “ภัย” ต่อความมั่นคงของรัฐรูปแบบหนึ่ง

การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ หมายรวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีทางการทูตหรือยุทธวิธีทางทหาร แต่เป็นการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การค้า หรือ การลงทุนที่เจาะจงให้เกิดผลกระทบต่อประเทศเป้าหมายอย่างชัดเจน เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การห้ามขนส่งสินค้าบางรายการ การห้ามเรือเข้าหรือออกจากท่าเรือ เป็นต้น

 ปัจจุบันบางประเทศได้นำมาตรการเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือในการค้าระหว่างประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกเริ่มแสวงหามาตรการตอบโต้เพื่อรับมือจากการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ

กลุ่มประเทศ G7 (Group of  Seven) ที่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

โดยในการประชุม Summit เดือนพฤษภาคม 2566 ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการแสวงหามาตรการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นหุ้นส่วนกับ G7 เพื่อยับยั้งการใช้นโยบายบีบบังคับทางเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือในการค้าระหว่างประเทศ โดยมีมติให้จัดตั้ง Coordination Platform on Economic Coercion” หรือ CPEC เพื่อเป็นแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันอย่างรวดเร็ว การประเมินสถานการณ์ร่วมกัน การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า  การแสวงหาแนวทางการรับมือร่วมกัน และการกำหนดมาตรการตอบโต้ที่เหมาะสมร่วมกันภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อยับยั้งหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายบีบบังคับทางเศรษฐกิจของประเทศใด ๆ

            เดือนตุลาคม 2566  รัฐสภาสหภาพยุโรป (EU) ได้ลงมติผ่านร่างมาตรการ Anti-Coercion Instrument หรือ ACI เพื่อสร้างกลไกการแทรกแซงนโยบายของสหภาพยุโรป หากมีกรณีประเทศใด ๆ ใช้นโยบายที่เข้าข่ายเป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อภาคธุรกิจของสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถหยิบยกกรณีดังกล่าวมาสอบสวนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีต่อประเทศสมาชิก EU และรายงานผลไปยังรัฐสภาสหภาพยุโรปเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการแก้ไขหรือตอบโต้

ปัจจุบันมาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปริมณฑลเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศยังไม่ได้พุ่งเป้ามายังประเทศสมาชิกอาเซียนมากเช่นเดียวกับกรณีของออสเตรเลียและเกาหลีใต้ แต่หลายประเทศในอาเซียนเริ่มเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ดังปรากฏในเดือนกันยายน 2566 เวียดนามไม่สามารถส่งออกกุ้งผ่านชายแดนได้เนื่องจากมีการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าโดยประเทศปลายทาง ส่งผลให้สินค้าเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

ท่ามกลางความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ง่ายต่อการแปรผัน จึงถึงเวลาที่อาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือส่วนภูมิภาคต้องตั้งคำถามถึงแนวทางการรับมือกับการบีบบังคับทางเศรษฐกิจซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นด้วยวิถีทางของอาเซียนเอง ซึ่งอาจเป็นผลดีกว่าการปล่อยให้สมาชิกหันไปพึ่งพากลไกของประเทศนอกภูมิภาค

และอาจนำมาซึ่งการลดทอนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการจัดการความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (Regional Supply Chains) เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอาเซียนร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12526 วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 669 facebook twitter mail
Top