เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายวิมล ปั้นคง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ในฐานะหัวหน้าโครงการ Improved Cross-Border Paperless Trade Measure ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการ และคณะนักวิจัยของ ITD ร่วมกับคณะผู้ดำเนินงานโครงการ Establishment of Common Control Area ของสปป.ลาว นำโดย Mr. Vangchai Vang, Deputy Director of Export and Import Department ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากกรมศุลกากร สปป. ลาว ได้เข้าร่วมประชุมกับ นายธิติศักดิ์ ผาสุกนิตย์ชญากุล หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน และนางสาวบงกช จันทร์หอม หัวหน้ากลุ่มทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นผู้แทนพาณิชย์จังหวัด ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม
การประชุมดังกล่าวเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในการดำเนินงานโครงการ Improved Cross-Border Paperless Trade Measure ในเส้นทาง 12 ภายใต้ ACMECS-ROK Branding Project Facilitating Cross-Border Trade Through Synchronization of Rule and Regulation in the ACMECS โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า โดยการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้ง 3 ประเทศ การจัดทำเว็บไซต์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านกฎระเบียบและข้อมูลด้านการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งศึกษาวิจัยเพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์เส้นทาง R12 เพื่อประโยชน์ร่วมกันของจังหวัดนครพนม แขวงคำม่วน สปป.ลาว และจังหวัดกว่างบิงห์ เวียดนาม
การดำเนินงานของพาณิชย์จังหวัดนครพนมได้พัฒนาขั้นตอนการทำงานให้อำนวยความสะดวกต่อการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของจังหวัดนครพนมที่ผ่านแดนไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม ถึงจีน โดยสามารถกรอกแบบฟอร์มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งฟอร์ม D และฟอร์ม E และเปิดให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยเพื่อให้ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าเข้ามาใช้บริการได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) นั้นมีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลที่ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 900 กว่าราย มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนระหว่างไทยกับสปป.ลาว เพิ่มสูงขึ้น สินค้าที่ผ่านแดนไปยังจีน เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย นั้น ใช้เส้นทาง R12 นี้ในการขนส่งเพราะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการผ่านแดน ที่สำคัญต้องนอกจากการพัฒนาระบบให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นแล้ว ต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเดียวกัน และต้องหารือร่วมกับประเทศผู้นำเข้าสินค้า จีน เพื่อร่วมมือการใช้ระบบเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกัน