Hot News

ITD รวม 10 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “แรงงาน” ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ที่คุณอาจไม่เคยรู้

visibility 1808 facebook twitter mail

วันที่1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งขาติ และเป็นวันหยุดของแรงงานในอีกค่อนโลก ที่หยุดเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของแรงงานหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ITD จึงรวบรวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแรงงานและวันแรงงาน ที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน มาให้ทุกคนถึงบางอ้อกัน

1. วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขณะที่ทั่วโลกนี้เรียกวันกรรมกรสากล เรียกเป็นภาษาอังกฤษต่างกันไปว่า International Workers’ Day, Labor Day หรือ Workers’ Day โดยในประเทศแคนาดาและอเมริกาฉลองวันแรงงานในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน

 2. วันแรงงานเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะฉลองให้กับผู้ใช้แรงงานที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในอดีตวันแรงงานถือเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ เกษตรกรในยุโรปจะจัดพิธีฉลองและบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตร

3. เมื่อยุโรปเปลี่ยนถ่ายจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แรงงานเข้าสู่วงจรการผลิตในรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มต้นทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 10-16 ชั่วโมง ในหลายประเทศ สภาพแวดล้อมในการทำงานอยู่ในระดับเลวร้าย ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเวลาและเงื่อนไขการทำงานในหลายประเทศ สหภาพแรงงานของหลายองค์กรในเมืองใหญ่ๆ ได้ข้อสรุปที่ออกมาในรูปของ “วันทำงาน 8 ชั่วโมง” หรือ “Eight-hour day” ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ยึดถือกันทั่วโลก

4. วันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500

5. ในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ด้วย และใช้เวลาถึง 17 ปี จึงได้ประกาศเป็นวันหยุดให้แรงงานได้มีช่วงเวลาเฉลิมฉลองวันแรงงานในปี พ.ศ. 2517

6. เนื่องจากวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใกล้เคียงกันคือวันพืชมงคล แรงงานที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรจึงมักใช้โอกาสนี้เดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเริ่มฤดูกาลหว่านไถ ถือเป็นฤกษ์มงคลในการเพาะปลูกรอรับน้ำฝนในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน

7. การจัดงาน วันแรงงานแห่งชาติ อย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 โดยความรับผิดชอบของกรมแรงงาน ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานขึ้นที่สวนลุมพินี โดยภายในงานมีการทำบุญตักบาตร นิทรรศการให้ความรู้ รวมทั้งกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ

8. วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม นั้นไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ หน่วยงานราชการยังคงเปิดทำการ และให้บริการตามปกติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็น รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนเท่านั้น

9. ประเทศไทยเมีกลุ่มผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่พร้อมเข้าสู่สถานะแรงงาน 56.57 ล้านคน เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายแต่กลุ่มแรงงานทั้งหมดในไทย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 ล้านคน และกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีแรงงานมากที่สุด สูงถึง 5.3 ล้านคน

10. ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานคร นับย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ปี 2553 แรงงานไทยมีค่าแรงรายวันอยู่ที่ 206 บาท โดยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็น 300 บาทต่อวัน เมื่อปี 2555 ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น ค่าแรงขั้นต่ำ 310 บาทต่อวันในปี 2559 และเพิ่มมาเป็น 331 บาท ในปี 2564 (ข้อมูลเดือนมกราคม 2654) รวมเฉลี่ย ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานได้เพิ่มขึ้นมา 59% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 ที่มา: การสำรวจข้อมูลภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ธนาคารแห่งประเทศไทย และthe standard

#ITDห่วงใยใส่ใจแรงงาน #วันแรงงานแห่งชาติ #วันกรรมกรสากล #Laborday # ITDขอส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์COVID-19

Top