หลักการและเหตุผล
ตามที่ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ภายใต้บันทึกความร่วมมือ (ระยะเวลา 5 ปี: พ.ศ.2561-2565) โดยในสองปีที่ผ่านมาได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “Smart Farmer” และ “Youth Camp Young Smart Farmer Level 2” เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรม โดยคัดเลือกจากนักเรียน/นักศึกษาอาชีวศึกษาด้านการเกษตรที่เคยเข้าร่วมอบรมแล้วให้เข้าอบรมต่อเนื่อง ซึ่งการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “Youth Entrepreneur for Trade and Development: Agriculture” ในครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมให้กับนักเรียน/นักศึกษาด้านอาชีวศึกษาเกษตร ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมอบรมในสองปีที่ผ่านมา และเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 41 (อกท.ชาติ ครั้งที่ 41) เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจและจุดประกายในความเป็นผู้ประกอบการเยาวชน ในภาคการเกษตรยุคใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดระบบความคิดผ่านกิจกรรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท เป็นอย่างมากในชีวิตประจำวัน การเรียนการสอน การสื่อสารต่างๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาคนให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อพัฒนากำลังคนระดับฐานรากแห่งอนาคต จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ประเทศไทยให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จึงได้นำ “โมเดลประเทศไทย 4.0” มากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Value-Based Economy) เพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ (Smart Farming) ประกอบกับยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ เน้นการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนไทย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาเยาวชน โดยเป็นกิจกรรมที่เน้นการพัฒนากระบวนการคิด (mind set) โดยการนำเสนอผ่านกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างความรู้ความเข้าใจในโมเดลทางธุรกิจ (Business Model Canvas: BMC) รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร ให้กับนักเรียน/นักศึกษาอาชีวศึกษาด้านการเกษตร สถาบันฯ ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันฯ เรื่อง นโยบายความเป็นผู้ประกอบการเยาวชน ตามกรอบนโยบายความเป็นผู้ประกอบการของ UNCTAD ซึ่งได้นำองค์ความรู้ในด้าน “การยกระดับการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการและพัฒนาทักษะ (Enhancing Entrepreneurship Education and Skill Development)” เพื่อยกระดับการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาทักษะ โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การผนวกรวมความเป็นผู้ประกอบการเข้าร่วมระบบการศึกษาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ให้สอดคล้องกับแนวคิดสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Society) UNESCO รวมทั้งการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: the United Nation) ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดในความเป็นผู้ประกอบการเยาวชน
- เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
- เพื่อนำองค์ความรู้ จากผลการศึกษาวิจัยที่สถาบันฯ ได้จัดทำขึ้นมาใช้ประกอบการจัดทำเนื้อหา/สาระสำคัญขอข้อมูลการอบรมให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ผลงานวิจัย เรื่อง นโยบายกลยุทธ์การพัฒนาเยาวชนตามกรอบความเป็นผู้ประกอบการของ UNCTAD ซึ่งได้นำองค์ความรู้ในด้าน “การยกระดับการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการและพัฒนาทักษะ (Enhancing Entrepreneurship Education and Skill Development)” มาประยุกต์ใช้หลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาทักษะ โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การผนวกรวมความเป็นผู้ประกอบการเข้าร่วมระบบการศึกษาทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียน/นักศึกษาอาชีวศึกษาด้านการเกษตร จำนวน 100 คน จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ
กำหนดการ
เอกสารประกอบการบรรยาย
วันที่จัดกิจกรรมและสถานที่จัดงาน
ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2563
ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน
ชื่อ/นามสกุล ปิยนุช แตงชัยภูมิ
สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
โทรศัพท์: 0 2216 1894 #128