- หลักการและเหตุผล
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมีความสำคัญต่อการยกระดับการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกสินค้า โดยที่การขนส่งสินค้าทางทะเลถือเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกและทางอากาศ ทำให้ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทั่วโลกโดยเรือคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของกระแสการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางทะเลได้เผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดมาตรการล็อคดาวน์และการปิดพรมแดน นำมาซึ่งการขาดแคลนกำลังการผลิต และยังเกิดความแออัดของท่าเรือเนื่องจากไม่สามารถทำการขนส่งสินค้าได้ ทำให้เกิดปัญหาอัตราค่าระวางตู้สินค้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ในปี 2565 United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD ได้ออกรายงานเรื่อง Review of Maritime Transport 2022 โดยระบุว่าการขนส่งสินค้าทางทะเล นอกจากเผชิญปัญหาการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังเผชิญปัญหาอีกหลายประการ อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาวะ เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดปัญหาราคาอาหารและพลังงาน ตลอดจนปัญหากฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าสินค้า
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ไปทั่วโลก และยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลของไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีกำหนดจัดการสัมมนาเรื่อง The Futures of Maritime Supply Chains in Southeast Asia เพื่อนำรายงานเรื่อง Review of Maritime Transport 2022 ของ UNCTAD มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และนำไปใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าเพื่อยกระดับการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
- วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อนำรายงานเรื่อง Review of Maritime Transport 2022 ของ UNCTAD มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับการค้าระหว่างประเทศของไทย
2.2 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ MSME และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
2.3 เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากการสัมมนามาพัฒนาและต่อยอดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ประกอบการ MSME สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและการขนส่งสินค้าทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาควิชาการ ได้ร่วมรับฟังรายงานเรื่อง Review of Maritime Transport 2022 ของ UNCTAD และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล และสามารถนำไปใช้ในเป็นแนวทางการบริหารจัดการการขนส่งเพื่อยกระดับการค้าระหว่างประเทศของไทย
- กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคการศึกษา จำนวนประมาณ 100 คน
ในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30-16.30 น.