การฝึกอบรมออนไลน์ (ระบบ E-Learning)
หลักสูตร “กฎหมายกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาคธุรกิจ” ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่
หลักการและเหตุผล
ตามที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนา โดยสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน นั้นเพื่อให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว
ในปีงบประมาณ 2563 สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา มีแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการในมิติที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เนื่องจากแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญของภาคการผลิต การค้า การลงทุน ดังนั้น การส่งเสริม คุ้มครอง และยกระดับมาตรฐานทางด้านแรงงาน จะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทางการค้า และช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศทุกวันนี้การดำเนินธุรกิจ การค้า การลงทุน อาจสร้างผลกระทบในด้านลบต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม จากการที่องค์กรธุรกิจต่างๆ มุ่งดำเนินการแต่เพียงแสวงหาผลประโยชน์หรือผลกำไรของตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้ใช้แรงงาน ปัญหาการเลือกปฏิบัติ ปัญหาแรงงานบังคับ ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เติบโตไปตามเศรษฐกิจโลก ทำให้มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคือแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย ซึ่งอาจทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้ ประกอบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มักให้ความสำคัญและนำเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานมาใช้เป็นมาตรฐานในการนำเข้าสินค้า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางด้านศุลกากรในการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทย เนื่องจากปัญหาการใช้แรงงานของไทยบางเรื่องไม่สอดคล้องตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล นอกจากนี้ การคุ้มครองและเคารพสิทธิแรงงานยังถือเป็นการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศพัฒนาแล้วให้การยอมรับ ดังนั้น การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการค้า การลงทุน ยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้ออกแบบการอบรม หลักสูตร “กฎหมายกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาคธุรกิจ” ให้กับข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านแรงงาน
โดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยของสถาบันฯ เรื่อง การพัฒนานโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติภายใต้ประชาคมอาเซียนเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมไทยมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำเนื้อหาสาระของการฝึกอบรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทยและกลุ่มแรงงานที่ถูกละเมิด เช่น แรงงานเด็ก แรงงานสตรี แรงงาน คนพิการ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ รวมถึงหลักกฎหมายแรงงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานดังกล่าว และสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์และปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายไปประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเหมาะสมและมีมาตรฐานสากล
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการค้าระหว่างประเทศกับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
- เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาทางด้านแรงงานที่มีผลต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
- เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายแรงงาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
- เพื่อนำงานวิจัยของสถาบันฯ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเนื้อหา และนำเผยแพร่อย่างเป็นรูปธรรม
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนประมาณ 50 คน
กำหนดการ
วันที่จัดกิจกรรม : 26-30 มิถุนายน 2563
สถานที่จัดกิจกรรม : Online Training
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ :
ชื่อ/นามสกุล ..นายวัชฤทธิ์ บำรุงพงศ์
สำนัก ..พัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
โทรศัพท์ 0 2215 1894 ต่อ 224
ลงทะเบียนกิจกรรม
วันที่เริ่มกิจกรรม :26 มิถุนายน 2563
วันสิ้นสุดกิจกรรม :30 กรกฎาคม 2563