หลักการและเหตุผล
ตามที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้บริหาร ครูวิชาชีพเกษตร และผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรให้มีความรู้ความสามารถในการเป็น “Smart Farmer” และยกระดับศักยภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตรให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีความเชื่อมโยงกับองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทางสถาบันฯ ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาเยาวชนตามกรอบนโยบายความเป็นผู้ประกอบการของ UNCTAD” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะระบบความคิดความเป็นผู้ประกอบการ และเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
จากผลของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สถาบันฯ ได้จัดทำหลักสูตร “Smart Farmer” เพื่อสร้างระบบความคิดของการเป็นผู้ประกอบการ รู้เท่าทันแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้พัฒนามาเป็นหลักสูตร “Youth Camp for Young Smart Farmer Level 2” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” และจุดประกายความคิดในการเป็น “Young Smart Farmer” ซึ่งในระหว่างการอบรมได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายมิติ อาทิเช่น เครื่องมือในการวางแผนธุรกิจ ความรู้ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการตลาด การบริหารจัดการฟาร์ม และการบริหารจัดการทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการให้ผู้เข้าอบรมนำเสนอผลงานผ่านกิจกรรมทางการตลาด เพื่อนำไปสู่การกำหนดช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนการฝึกภาคปฏิบัติโดยนำเครื่องมือที่ช่วยออกแบบโมเดลทางธุรกิจ (Business Model Canvas) มาใช้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการวางแผนธุรกิจของตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการอบรมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้ารับการอบรมสามารถสร้างระบบความคิดในการเป็นผู้ประกอบการ โดยนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาสินค้าของตน และนำมาจัดแสดงนิทรรศการในงานประชุมวิชาการระดับชาติองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 41 (อกท.ชาติ ครั้งที่ 41) อาทิเช่น โครงการผักเผ็ดเด็ดสุดๆ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดลำพูน เป็นการนำผักซึ่งเป็นผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปให้เป็นอาหารและยาสมุนไพร เพื่อให้สินค้ามีความโดดเด่น และสร้างคุณค่า (Value added) ให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น และโครงการปลานิลอินทรีย์ออร์แกนิกส์ จากวิทยาลัยประมงสมุทรสาคร เป็นการนำสินค้าที่ผลิตเองด้วยวิธีธรรมชาติ ปราศจากการใช้สารเคมี มาแปรรูป แล้วนำออกจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน และขยายตลาดเป้าหมายในอนาคต และโครงการเกษตรชีววิถี จากวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้า โดยนำสินค้าการเกษตรที่มีอยู่ทั่วๆ ไป มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำออกจำหน่าย ทั้งยังเป็นสินค้านำเทรนด์การตลาดด้วย จนสามารถวางจำหน่ายได้ทำให้เกิดรายได้ระหว่างเรียน และหลังจากสำเร็จการศึกษาสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพหลักได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการอบรมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนให้มีระบบความคิดความเป็นผู้ประกอบการ ปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้คือการยกระดับภาคการศึกษา ให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กรณีนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้สอนจะต้องพัฒนาศักยภาพการสอนของตนเองให้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้ โดยใช้ระบบพี่เลี้ยงหรือ Mentor ดังนั้น คณะครูหรือบุคลากรภาคการศึกษาจะต้องมีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบันฯ เรื่อง การศึกษาจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนในจังหวัดชายแดน: กรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ระบุว่า การพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการนั้นควรปลูกฝังตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน ด้วยการแสดงให้เยาวชนได้เห็นและเข้าใจถึงคุณลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างทัศนคติและทักษะที่เหมาะสม เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเริ่มต้นทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1]
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การฝึกอบรมเกิดความต่อเนื่องและเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จึงได้มีการพัฒนาหลักสูตร “การเสริมสร้างผู้ประกอบการเยาวชน Empowering Young Entrepreneur Program (Train the Trainer)” โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของสถาบันฯ ดังกล่าวข้างต้น[2] มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งได้ระบาดอยู่หลายพื้นที่ในประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมมาเป็นการจัดฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านระบบ Online Real-time Course โดยใช้โปรแกรม Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Team เป็นต้น และการจัดทำวีดีโอคลิปเนื้อหาองค์ความรู้เพื่อเป็นสื่อประกอบการอบรมในรูปแบบสื่อผสม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นภาพที่กว้างขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งในการอบรมนั้นจะมีการติดตามผลการให้คำปรึกษาและการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การอบรมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างผู้ประกอบการเยาวชนได้ต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อยกระดับบุคลากรภาคการศึกษาของวิทยาลัยอาชีวเกษตรและเทคโนโลยี สู่การเป็นโค้ชและพี่เลี้ยง (Coach & Mentor) และเพิ่มศักยภาพศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา ในการยกระดับนักเรียน/นักศึกษา อาชีวศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการเยาวชน (Young Entrepreneur)
กลุ่มเป้าหมาย
ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่ดูแลงานด้านศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของวิทยาลัยและนักศึกษา จำนวน 50 คน
กำหนดการ
วันที่จัดกิจกรรม : ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 4 ตุลาคม 2563
สถานที่จัดกิจกรรม : การอบรมแบบออนไลน์
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ :
ชื่อ/นามสกุล นางสาวปิยนุช แตงชัยภูมิ
สำนัก นักบริหารโครงการ
โทรศัพท์ 0 2216 1894-7 #223 หรือ 08 9423 3069