หลักการและเหตุผล
รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ในพื้นที่มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นและสามารถเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค นำไปสู่การเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานให้มีความสามารถในการปรับตัว และมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะทักษะทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับการค้า การลงทุน ตลอดจนรองรับอุตสาหกรรมและบริการ แห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยประสบปัญหาแรงงานมีทักษะที่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายและทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอาจส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต นอกจากนี้ ระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถผลิตบุคลากรได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงาน (สุรีย์พร พันพึ่ง และคณะ, 2562) ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
โดยที่จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพในด้านการค้า การลงทุนในพื้นที่ชายแดน เนื่องจากมีระบบการขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-ลาว ยิ่งทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของจังหวัดหนองคายได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จังหวัดหนองคายยังประสบปัญหาด้านการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงาน (โศจิรัตน์ เติมศิลป์, ประชาสรรค์ แสนภักดี, 2562) และแรงงานส่วนใหญ่ยังขาดทักษะขั้นสูงในการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีกำหนดจัดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง การพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมมาพัฒนาเป็นบทความวิชาการสำหรับใช้เป็นกรอบมาตรฐานการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภาพแรงงานและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ภาพรวมความต้องการแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
- เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภาพแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสามารถรองรับการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
- เพื่อนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะมาจัดทำเป็นกรอบมาตรฐานการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภาพแรงงานและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือแผนงานด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนรองรับการค้า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคการศึกษา จำนวนประมาณ 20 คน
ระยะเวลา / วัน เวลา และสถานที่
วันที่ 28 มกราคม 2565 โดยเป็นการสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex
ผู้รับผิดชอบ
-
- สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
- ที่ปรึกษาโครงการ: ดร.ธนรรรต์ คู่วรัญญู เที่ยงกมล รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
- หัวหน้าโครงการ: ร้อยโท พันธ์รบ ราชพงศา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีด ความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
- สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
เจ้าหน้าที่โครงการ: นายวัชฤทธิ์ บำรุงพงศ์ นักวิชาการ