Seminar

การสัมมนา เรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด -19 สู่ความยั่งยืน” ภายใต้โครงการเวทีสาธารณะ (Public Forum) ยกระดับแนวทางความร่วมมือเพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุนของภูมิภาค-อนุภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

หลักการและเหตุผล

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปลาย ปี 2563 ต่อเนื่องมา ได้ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของตลาดแรงงานไทยในหลายมิติ  ประการแรก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งที่ 2 (second wave) ที่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงในจังหวัดสมุทสาครเมื่อตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563   แรงงานที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ได้ชี้ให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการบริหารจัดการข้ามชาติที่ส่งผลให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย  ขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่สมดุลในตลาดแรงงานด้อยทักษะที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย  ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมิติความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงด้านสุขภาพ  ประการที่ 2 การแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาถึงเดือนมิถุนายน 2564 ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานและการจ้างงาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อเนื่องให้เกิดภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม  ภาคการเกษตร ได้ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเลิกจ้างและการลดชั่วโมงการทำงานจึงมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะการว่างงานในอัตราที่สูงสุดในรอบประมาณ 30 ปี  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายและมาตรการบรรเทาผลกระทบและแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเร่งด่วน

นอกจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วผลการศึกษาโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)และผลวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ พบว่าโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยมีคุณลักษณะร่วมที่มักพบเช่นเดียวกับประเทศที่ก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือในประเทศเอเชียที่พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดดในช่วง 4-5 ทศวรรษ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน คือ 1) มีสัดส่วนของภาคเกษตรซึ่งมีผลิตภาพต่ำลดลง 2) มีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งมีผลิตภาพสูงมากกว่าภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3) มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้อย่างหลากหลายและซับซ้อน 4) มีการยกระดับโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ และ 5) มีความสามารถในการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทางการผลิตทั้งในประเทศและฐานการผลิตในต่างประเทศ และยังพบว่าการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการผลิตสะท้อนให้เห็นถึงความรู้และทักษะของแรงงานตลอดจนปัจจัยและภาพแวดล้อมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของแรงงานมีการขยายตัวในทิศทางเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขณะที่การเติบโตของกำลังแรงงานลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 1997 และประมาณการว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งจะเป็นความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ผลการศึกษาสะท้อนว่าโอกาสแรงขับเคลื่อนของ เศรษฐกิจจากการเจริญเติบโตของจำนวนประชากรจะหมดไปเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งจะส่งผลให้ต้องมีการมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้มากขึ้น  (แผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทย,2562)

นอกจากปัญหาผลิตภาพของแรงงานไทยที่ต้องเร่งพัฒนาแล้ว ตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากหลายปัจจัยทั้งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งในภาคผลิต ภาคบริการและภาคการเกษตรซึ่งแรงงานต้องเร่งพัฒนาทักษะใหม่ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นด้วยเงื่อนไขด้านการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องเร่งพัฒนาการจ้างงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานและข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศด้านแรงงานมากยิ่งขึ้น

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านการศึกษาวิจัย การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีพันธกิจด้านความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันได้ให้ความสำคัญกับภาคแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการศึกษาวิจัยทั้งด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานตามมาตรฐานแรงงานอาเซียน และการบริหารจัดการนโยบายแรงงานไร้ฝีมือข้ามชาติระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในภาวะที่โรคระบาดโควิด-19 ได้แพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน สถาบันจึงเห็นควรจัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อประเมินสภาพปัญหาจากหลากหลายมุมมอง และนำเสนอนโยบายด้านการการพัฒนาตลาดแรงงานให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์

  •  เพื่อศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาแรงงานในโลกยุคหลังโควิด-19 จากทั้งภาควิขาการ ภาคเอกชน และภาคองค์กรระหว่างประเทศ
  • เพื่อรับฟังความคิดเห็น มุมมองและข้อเสนอแนะในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อใช้จัดทำโครงการวิจัยและจัดกิจกรรมฝึกอบรมและสัมมนา
  • เพื่อประมวลจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการพัฒนาตลาดแรงงานไทยในยุคหลังโควิด-19 ต่อหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนร่วมเสนอแนวทางในการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยในยุคหลังโควิด-19
  • นำข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนามาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพื่อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต่อไป

กลุ่มเป้าหมาย

บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและวิชาการ และผู้สนใจทั่วไป จำนวนประมาณ 80-100 คน

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

นายวัชฤทธิ์  บำรุงพงศ์

สำนัก พัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา

โทรศัพท์ 02 215 1894 ต่อ 224

การสัมมนา เรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด -19 สู่ความยั่งยืน” ภายใต้โครงการเวทีสาธารณะ (Public Forum) ยกระดับแนวทางความร่วมมือเพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุนของภูมิภาค-อนุภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

calendar 23 July 2021 23 July 2021

time 09:00 - 12:15 น.

loation Online

กิจกรรมนี้ได้ปิดการสำรองที่นั่งแล้ว
itd-logo-detail
About the event organizer
International Institute For Trade And Development
Top