บทความวิชาการ
view 2903 facebook twitter mail

ASEAN 2024 ภายใต้การนำของ สปป.ลาว

เกี่ยวกับเอกสาร

วัฒนธรรมทางการเมืองของอาเซียนในแต่ละปี ประเทศสมาชิกจะสลับหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธาน  ถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศสมาชิกในการนำเสนอวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำในภูมิภาค  ผ่านการผลักดันนโยบายระดับภูมิภาค การกู้วิกฤติอาเซียน การสมานรอยร้าวระหว่างสมาชิก หรือแนวทางรับมือสถานการณ์โลกตามบริบทที่ผันแปรไปในแต่ละปี

ปี 2024 สปป.ลาวรับไม้ต่อจากอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียนบนทางแพร่งระหว่างพลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลกกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่สั่งสมมาหลายปี จึงเป็นที่จับตาว่าสปป.ลาวจะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศแบบ Intermestic” (International and Domestic) ปีนี้ไปในทิศทางใด

สปป.ลาวเสนอแนวคิดหลัก (Theme) “ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience” หรือ “การยกระดับความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่นของอาเซียน” ซึ่งรัฐบาลสปป.ลาวชี้ชวนให้เห็นถึงความท้าทายหลายมิติที่อาเซียนต้องเผชิญในช่วงระยะที่ผ่านมาทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภัยพิบัติ ประเด็นความมั่นคงดั้งเดิม และความมั่นคงรูปแบบใหม่ซึ่งจวบจนปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้อย่างสมบูรณ์

รัฐบาลสปป.ลาวชูแนวคิดการกระชับความเชื่อมโยงและความสามารถในการปรับตัวมาเป็นกลไกเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านการขับเคลื่อน 3 เสาหลักของอาเซียน ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น การลดช่องว่างการพัฒนา ควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค ทั้งระดับเศรษฐกิจมหภาคไปถึงระดับปัจเจกชนภายใต้การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)      

2-3 ปีที่ผ่านมา สปป.ลาวเผชิญมรสุมหนักทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายปี 2023  ธนาคารโลกกประมาณการว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาวอยู่ที่ประมาณ 3.7% ภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 25% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 2.3% และจากการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คาดว่าปี 2024 เศรษฐกิจสปป..ลาวจะเติบโตราว 4% และเงินเฟ้ออาจพุ่งสูงถึง 28% ส่งผลให้ราคาค่าอาหารและรายจ่ายครัวเรือนสูงขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราความยากจน

อย่างไรก็ตามภาวะเงินเฟ้อและการอ่อนค่าลงของเงินกีบนั้น ธนาคารโลกชี้ว่ามาจากเหตุปัจจัยหลักคือการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศภายในประเทศ สืบเนื่องจากการชำระหนี้ที่กู้ยืมจากต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนราว 36.9%

บทบาทประธานอาเซียนของสปป.ลาว ยิ่งทวีความท้าทายขึ้นท่ามกลางสารพันปัญหาในปี 2024 ที่กระทบต่อเอกภาพและความเป็นไปของอาเซียน ตั้งแต่เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในเมียนมาซึ่งส่งผลกระทบต่อนโยบายความมั่นคงและการค้าชายแดน การขับเคี่ยวระหว่างขั้วอำนาจจีนกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป การปรับยุทธศาสตร์ของอาเซียนรับมือกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ และการสานต่อแนวคิด ASEAN Indo-Pacific ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นข้อท้าทายต่ออาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

ความทับซ้อนแบบ “Intermestic” ที่มิอาจแยกออกจากกันได้เช่นนี้ สปป.ลาวจะนำ “ความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” มาประคับประคองเศรษฐกิจภายในประเทศควบคู่ไปกับการนำพาอาเซียนให้มีเสถียรภาพและยืนหยัดได้ในเวทีโลกนั้น จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของสปป.ลาวที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12556 วันพุธที่ 17 มกราคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 2903 facebook twitter mail
Top