บทความวิชาการ
view 4076 facebook twitter mail

2567 : อาเซียนในหลากหลายความตกลง

เกี่ยวกับเอกสาร

ก้าวสู่ปี 2567 ประเด็นต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ได้รับการหยิบยกมาเป็นวาระการเจรจาทั้งทวิภาคีและพหุภาคี โดยมีความตกลงที่มีความเกี่ยวข้องกับอาเซียนในหลายเวทีที่มีความเคลื่อนไหวน่าจับตามองและน่าจะได้พิจารณาความคืบหน้าที่สำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประกอบด้วย 15 ประเทศสมาชิก รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน ครอบคลุมเกือบ 30% ของ GDP โลก กำลังเร่งสรุปกระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ของความตกลง RCEP ภายในปีนี้ และจะสามารถเจรจาและรับสมาชิกเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ

การรับสมาชิกใหม่เข้าร่วม RCEP เป็นโอกาสของอาเซียนในการใช้ประโยชน์ความตกลงเพื่อขยายตลาดและห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน โดยเขตเศรษฐกิจ เช่น ฮ่องกงและศรีลังกา ได้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วม RCEP อย่างเป็นทางการแล้ว

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ซึ่งจะเป็นความตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างอาเซียนกับประเทศฝั่งอเมริกา เริ่มการเจรจาตั้งแต่ 2564 และวางเป้าหมายบรรลุการเจรจาภายในปี 2568 โดยความตกลงดังกล่าวจะครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ความตกลงนี้คาดว่าจะทำให้GDP ของอาเซียนเพิ่มขึ้นราว 39.4 พันล้านดอลลาร์

ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) เป็นความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียในอาเซียน เช่น การค้าระบบดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การชำระเงินและ e-invoicing โดยตลอดปี 2567 จะมีการเจรจาและทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุความตกลงภายในปี 2568

 อาเซียนพยายามกระชับความร่วมมือทั้งในภูมิภาคและกับคู่เจรจาเพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุน และเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าหากการเจรจาความตกลงเหล่านี้บรรลุได้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีความตกลงในเวทีระดับโลกที่น่าสนใจ ซึ่งจะส่งกระทบต่ออาเซียนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  การที่รัฐสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตกลงร่างและเจรจาสนธิสัญญา ความตกลง หรือเครื่องมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการตอบสนองต่อโรคระบาด (Pandemic Treaty) หลายประเทศยังมีข้อกังวลว่า WHO จะเข้ามาแทรกแซงอำนาจของรัฐซึ่ง WHO ได้ออกมาปฏิเสธข้ออ้างนี้ แต่ยังมีข้อถกเถียงในการเจรจา เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา

ด้านสิ่งแวดล้อม การเจรจาจัดทำร่างเครื่องมือที่มีผลผูกพันตามกฎหมายเกี่ยวกับมลภาวะจากขยะพลาสติก (Plastic Pollution Treaty) เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในปี 2567 เป็นความพยายามของประชาคมโลกภายใต้สหประชาชาติเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะจากพลาสติก โดยมีร่างฉบับปรับปรุงที่เผยแพร่เพื่อใช้ในการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล ครั้งที่ 4 (INC-4) ในวันที่ 23-29 เมษายน 2567

ปี 2567  จึงเป็นปีที่ความเคลื่อนไหวของเวทีระหว่างประเทศทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ล้วนน่าจับตามอง โดยอาเซียนเองก็ต้องยกระดับบทบาทในเวทีเจรจา รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ก็ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวรับมือจากเครื่องมือในทางระหว่างประเทศที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในหลายเรื่องด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12551 วันพุธที่ 10 มกราคม 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 4076 facebook twitter mail
Top