การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง เป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถดึงดูดการค้าและการลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ โดยที่ในปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเป็นประตูการค้าในระดับภูมิภาค
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศ CLMV จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ปัจจัยหนึ่งมาจากมีค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่มประเทศ CLMV มีศักยภาพที่จะขยายอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์โดยมีทำเลที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคและติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ทำให้สามารถเดินทางขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวก กรณีนี้ถือเป็นโอกาสที่จะเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำหรับการพัฒนาด้านการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากปัจจัยหลายด้านที่ยังมีความต่างกันอยู่มาก เช่น ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความพร้อมไม่เท่ากัน รวมถึงพิธีการด้านกฎระเบียบในการส่งสินค้าข้ามแดนที่ยังคงมีความยุ่งยากซับซ้อน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดการขนส่งสินค้าของแต่ละประเทศให้ดี เพื่อที่จะได้บริหารจัดการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ได้อย่างเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีกำหนดจัดการสัมมนาในรูปแบบออนไลน์หัวข้อ Update ข้อมูลระบบการขนส่งและ โลจิสติกส์ใน GMS เพื่อนำเสนอข้อมูล สถานะ ความคืบหน้า เกี่ยวกับขั้นตอน พิธีการ และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ควบคู่กับการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของสถาบัน เรื่อง การพัฒนาการใชประโยชนความตกลงวาดวยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุมแมน้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) เพื่อเป็นข้อมูลให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสถานการณ์การขนส่งในภูมิภาค เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการการขนส่งสินค้า สามารถลดต้นทุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น และส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
วันที่จัดกิจกรรม
วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างเวลา 13.00-14.30 น. ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
ผู้รับผิดชอบ
นายวัชฤทธิ์ บำรุงพงศ์
นักวิชาการอาวุโส
โทร. 02 216 1894 – 7 ต่อ 224
E-mail: vatcharit@itd.or.th