บทความวิชาการ
view 1288 facebook twitter mail

มุมมองใหม่ของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา  ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้เปิดเผยรายงานผลการศึกษาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศึกษาจากกรณีประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มระดับโลกซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้ 1. ค่าแรงที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในทั้ง 3 ประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงจึงส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลง 2.รายได้จากนอกภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้นและมีเงินส่งกลับจากแรงงานที่ไปทำงานยังต่างประเทศ และ 3. รูปแบบลักษณะครัวเรือนที่แตกต่างไปจากเดิม  นอกจากนั้นปัจจัยที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำของระดับการพัฒนาระหว่างภูมิภาคที่ลดลง ช่องว่างระหว่างรายได้ของเมืองและชนบทลดลง ปัจจัยเหลานี้ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของทั้ง 3 ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงที่มีความโดดเด่นของทั้ง 3 ประเทศนี้สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิด 3 ข้อ ประกอบด้วย ผลที่สอดคล้องกับแนวคิดของคุซเน็ตส์ (Kutnets) รูปแบบนโยบายภายในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ  ทั้งนี้ตามข้อสมมติฐานของคุซเน็ตส์นั้น ในระยะแรกของการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพัฒนาไปถึงระดับหนึ่งช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนั้นจะค่อย ๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น ก่อนที่จะลดลงเมื่อประเทศมีความมั่งคั่งมากขึ้น

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ละประเทศมีนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้ช่องว่างทางรายได้ลดลง เช่น การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า หรือการใช้จ่ายในนโยบายรัฐสวัสดิการต่าง ๆ กรณีฟิลิปปินส์ที่มีโครงการ Pantawid Pamilyang Pilipino Program หรือ 4Ps ซึ่งเป็นโครงการมอบเงินช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไขให้กับครัวเรือนที่มีความยากจนขั้นรุนแรง เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ โภชนาการ และการศึกษาของสมาชิกภายในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-14 ปี

 ในกรณีของไทย รัฐบาลได้ริเริ่มนโยบายที่ช่วยพัฒนาระบบสวัสดิการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงระบบการรักษาสุขภาพแบบถ้วนหน้า เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า และการขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระ ยังมีการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โครงการเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในภาคเกษตรกรรม และเป็นการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเมืองและชนบท 

ในกรณีเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา  รัฐบาลเวียดนามผลักดันนโยบายลดความยากจนเพื่อบรรลุเป้าหมายในระดับประเทศ โดยมีโครงการที่มุ่งเน้นที่การกระจายรายได้ของประชากรซึ่งครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โครงการก่อสร้างในพื้นที่ชนบท การจ้างงานและการฝึกอบรมงานสายอาชีพ นโยบายการลดความยากจนอย่างยั่งยืน และนโยบายคุ้มครองเด็ก

การเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจว่าเหตุใดทั้ง 3 ประเทศจึงมีแนวโน้มด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ  กรณี 3 ประเทศนี้อัตราการสำเร็จการศึกษาของประชากรทั้ง 3 ประเทศนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุปทานแรงงานทักษะสูง 

ด้านอัตราส่วนของค่าจ้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานไร้ฝีมือพบว่าในไทยและฟิลิปปินส์ยังลดลง ส่วนกรณีเวียดนามพบว่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การผลิต และการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์และไทยนั้นต้องหันมาพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากภาคบริการเพิ่มมากขึ้น

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12501 วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1288 facebook twitter mail
Top