เกี่ยวกับเอกสาร
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซ่า ปาเลสไตน์ที่ปะทุขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของพลเรือนทั้งสองฝ่ายและแรงงานต่างชาติ รวมถึงเกิดการโจมตีโรงพยาบาลซึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นและขยายขอบเขตไปในหลายภูมิภาคอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ในที่สุด
ต่อมา วันที่ 20 ต.ค.2566 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ “เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง เคารพกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยอาเซียนพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อสร้างสันติสุขระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปกป้องและรับประกันความปลอดภัยของพลเรือนและปล่อยตัวประกันที่รวมถึงประชาชนอาเซียนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็ว”
แม้ว่าในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ไทยและอาเซียนจะอยู่ไกลจากเขตปะทะในอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่ในมิติภูมิเศรษฐศาสตร์ด้วยความเกี่ยวพันของห่วงโซ่อุปทานและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีส่งผลให้ไทยและอาเซียนมิอาจละเลยได้ ในปี 2565 อิสราเอล เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยในอันดับที่ 42 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 49,182 ล้านบาท ขณะที่ด้านแรงงานในปี 2565 มีแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลกว่า 9,417 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตร ทั้งนี้จากสัดส่วนจำนวนแรงงานต่างชาติที่ทำงานในอิสราเอลพบว่า แรงงานไทยมีจำนวนมากที่สุดราว 23% รองลงมาคือแรงงานฟิลิปปินส์มีจำนวน 21% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด
ปาเลสไตน์ รัฐขนาดเล็กที่มีประชากรราว 5 ล้านคน ธนาคารโลกรายงานว่า ปี 2565 อัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่เพียง 3.9% และมีแนวโน้มที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉนวนกาซ่าที่สูงถึง 45.3% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยและอาเซียนจะยังไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะคู่เจรจาแบบ รัฐต่อรัฐ กับปาเลสไตน์ แต่จากข้อมูลเชิงสถิติกลับพบว่าในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าไปยังปาเลสไตน์กว่า 178 ล้านบาท ในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม จากมูลค่าการค้าข้างต้นส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ค้าอันดับที่ 16 จากประเทศคู่ค้าทั่วโลกของปาเลสไตน์ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน สูงกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียในลำดับที่ 19 และ 22
ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับไทยและอาเซียนอีกต่อไป เมื่อบริบทของห่วงโซ่อุปทานโลกได้ร้อยเรียงกันยาวมากขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางการเคลื่อนย้ายแรงงาน สอดคล้องกับความก้าวหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดการประชุมกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ ASEAN-GCC Summit ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ผลสรุปจากการประชุมทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นความร่วมมือหลัก ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล การเชื่องโยงระหว่างกัน การพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน และด้านเกษตรกรรม เป็นต้น
เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศได้บูรณาการอาเซียนเข้ากับโลกได้อย่างลึกซึ้งขึ้น อาเซียนจึงมิอาจหลีกหนีจากความตึงเครียดระหว่างขั้วอำนาจของโลกซึ่งมิได้มีเฉพาะสหรัฐฯ จีน และรัสเซียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิหร่าน กลุ่มอาหรับ และประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเป็นไปของโลก จึงเป็นข้อท้าทายต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยและอาเซียนต่อความขัดแย้งในครั้งนี้ในการรักษาผลประโยชน์ของภูมิภาค เสริมสร้างสันติภาพ และการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนได้อย่างภาคภูมิ
ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12496 วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”