บทความวิชาการ
view 1473 facebook twitter mail

เศรษฐกิจเอเชียปี 2566 เติบโตปานกลาง ท่ามกลางความเสี่ยง

เกี่ยวกับเอกสาร

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2566 ( Asian Development Outlook, September 2023) โดยสรุปว่าปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวได้ระดับปานกลาง จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ  การเปิดประเทศของจีนส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและหนุนเสริมให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคฟื้นตัว  คาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวที่ระดับ 4.7% และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.5% ในปี 2567  

การลดลงของอุปสงค์ในตลาดโลกส่งผลให้ภาคการส่งออกในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มไม่สดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์  การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวซึ่งสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตังสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทางบวกอย่างชัดเจนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวในเอเชียกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากเกิดปรากฏการณ์แรงงานไหลออกนอกภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด-19

ธนาคารกลางหลายประเทศได้หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อส่งสัญญาณอ่อนตัวลง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศในเอเชียมีทิศทางที่แตกต่างกัน ตลาดการเงินในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและตึงตัวลง ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น เงินทุนไหลเข้าปรับตัวดีขึ้น 

เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัว 4.9% เนื่องจากการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้เสีย  คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียใต้โดยรวมจะขยายตัวที่ระดับ 5.4%  เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศและการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น  เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน คาดว่าจะขยายตัว 4.6% โดยมีปัจจัยกระทบทางลบจากอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลกที่อ่อนแรงลง ทั้งนี้ปี 2566  อัตราเงินเฟ้อในเอเชียคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.6% ลดลงจากระดับ 6.7% เมื่อปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5% ในปี 2567  

ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมีความเสี่ยงที่เข้มข้นขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย  เนื่องจากรัฐบาลจีนจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดเงิน รวมทั้งมีความเสี่ยงที่ปัญหาหนี้เสียในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของจีนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการบริโภคและการลงทุนในอนาคต 

ประเทศในภูมิภาคเอเชียควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร แม้ว่าราคาอาหารโลกมีแนวโน้มลดงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา  แต่ประเด็นความมั่นคงทางอาหารถือเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของเอเชียเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลต่อผลผลิตในภาคเกษตร  การบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกอาหารของประเทศผู้ผลิตอาหาร รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครนต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารโลกที่ยังไม่คลี่คลายลง 

เอเชียมีความเสี่ยงภาวะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและการย้ายฐานการผลิตของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกซึ่งจะส่งผลต่อการค้าและการจ้างงานในภูมิภาคนี้ รวมทั้งต้องจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกด้วย

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12481 วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top