บทความวิชาการ
view 1662 facebook twitter mail

เจาะโอกาส ‘e-commerce สปป.ลาว’

เกี่ยวกับเอกสาร

โลกที่เทคโนโลยีหมุนอย่างรวดเร็วนี้ ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของนานาประเทศต่างมีการเติบโตกันอย่างก้าวกระโดด เพราะผู้คนปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีมากขึ้น แต่กลับดูเหมือนว่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสปป.ลาวจะก้าวไปอย่างช้า ๆ ทำให้โอกาสจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสปป.ลาวถูกมองข้ามไปอย่างมาก

การพัฒนาของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สปป.ลาวอยู่ในระยะเริ่มต้น ด้วยเหตุสำคัญคือการขาดความพร้อมด้านระบบนิเวศพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  จากการจัดอันดับเกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง B2C e-commerce index โดย UNCTAD ในปี 2563 สปป.ลาวอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 152 เขตเศรษฐกิจ ส่วนการจัดอันดับ Network Readiness Index (NRI) ปี 2565 สปป.ลาวอยู่ที่ 102 จาก 131 เขตเศรษฐกิจ แม้แต่ในอาเซียนตามการจัดอันดับบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน (ADII) สปป.ลาวก็ถูกจัดในอันดับที่ 9

 ความพร้อมด้านระบบนิเวศของสปป.ลาวจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  ความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำ  แต่ค่าบริการสูง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่สปป.ลาวยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่มาก และทักษะความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลของประชาชนยังต้องมีการพัฒนา

ความท้าทายสำคัญของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สปป.ลาวคือ การส่งสินค้า เนื่องจากระบบฐานที่อยู่ของประชาชนในประเทศขาดความชัดเจน ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าให้ผู้รับถึงหน้าประตูได้ แต่อาจต้องใช้การส่งและนัดรับในสถานที่สาธารณะที่เป็นที่รู้จักแทน ด้วยเหตุนี้ทำให้การซื้อขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้รับความสะดวกเท่าไหร่นัก

ผู้บริโภคชาวลาวที่ซื้อสินค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นิยมซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook แม้ว่าผู้ขายจะมีช่องทางอื่น เช่น เว็บไซต์ แต่ผู้บริโภคก็จะซื้อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ซึ่งเป็นการซื้อขายในรูปแบบที่ไม่ค่อยเป็นทางการและทำให้การเก็บสถิติพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศทำได้ยาก

จากความท้าทายต่าง ๆ ประกอบกับการที่สปป.ลาวมีประชากร 7 ล้านคน  ความหนาแน่นของประชากรเพียง 32 คนต่อตารางกิโลเมตร ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่จากต่างชาติยังไม่เข้ามาทำตลาดในสปป.ลาวอย่างจริงจัง

แต่ในอีกด้าน ผู้บริโภคชาวลาวกลับมีการซื้อสินค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจีนกับไทย โดยซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการในจีนหรือไทยเอง และใช้บริการคนกลางที่มีบัญชีของประเทศนั้นในการโอนเงิน หรือคนกลางในการรับ-ส่งสินค้าข้ามพรมแดนมาที่สปป.ลาว

ปรากฏการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วชาวลาวคุ้นเคยกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดี พร้อมเปิดรับการใช้งานแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้

ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของสปป.ลาวในปัจจุบันเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถขายสินค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคชาวลาวผ่านโซเชียลมีเดียได้ และยังเป็นโอกาสที่นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเข้าไปทำตลาดให้สินค้าไทยครองใจผู้บริโภคลาวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อเป็นฐานการเติบโตระยะยาวควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของสปป.ลาวในอนาคต

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12466 วันพุธที่ 13 กันยายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1662 facebook twitter mail
Top