บทความวิชาการ
view 3706 facebook twitter mail

วิกฤติความยากจนในเอเชีย

เกี่ยวกับเอกสาร

โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกับภาวะเงินเฟ้อสูง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป็นวาระโลกเมื่อปี 2015 การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วยเป้าหมาย 17 ข้อ สาระสำคัญหลักคือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาโลกเผชิญกับวิกฤติต่อเนื่อง ทั้งวิกฤติโรคระบาดและวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้จัดทำรายงานเรื่องดัชนีเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย  โดยได้ข้อสรุปสำคัญว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับ “วิกฤติค่าครองชีพ” เนื่องจากเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ผนวกรวมกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงส่งผลให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียกล่าวว่า ปี 2565 ประชาชนกลุ่มยากจนขั้นรุนแรง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประมาณ 155.2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของประชากรทั้งหมด  ผลจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้จำนวนคนยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น 67.8 ล้านคน  คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงและต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้กลุ่มคนยากจนขั้นรุนแรง คือ ประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

กลุ่มประชาชนที่ยากจนได้รับผลกระทบมากจากต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นส่งต่อผลอำนาจซื้อของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทำให้ต้องจัดสรรเงินรายได้เพื่อการบริโภคประจำวันมากขึ้น  ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว กลุ่มประชาชนผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มผู้ชาย เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วผู้หญิงมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย และทำงานอยู่ในสาขาที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น งานบ้าน งานดูแลผู้สูงอายุ

วิกฤติที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบโดยทั่วไป เพราะประชาชนทุกกลุ่มต้องลดคุณภาพของสินค้าและบริการที่บริโภคลงซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว  รายงานชี้ให้เห็นว่า ปี 2021 วิกฤติโรคระบาดทำให้คนจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น 75-80 ล้านคน คาดว่าปี 2030 จะมีกลุ่มประชาชนกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจประมาณ 30.3% ของประชาชนทั้งหมด  กลุ่มประชาชนเปราะบางทางเศรษฐกิจ คือ กลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 3.65-6.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งคำนวณจากระดับราคาปี 2017

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยต้องเร่งส่งเสริมสินค้าเกษตร พัฒนาการเข้าถึงการให้บริการด้านเงินทุน  จัดลำดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และเร่งพัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์

ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความได้เปรียบจากการเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารในต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ภาวะหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน รวมทั้งต้องเร่งยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและการศึกษาเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบระยะยาว

การเข้าใจและเสริมความรู้พร้อมรับมือกับวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ สามารถรับฟังได้จากงานสัมมนาประจำปี 2023 ของ ITD Southeast Asia Trade and Development Forum 2023 “Conquering the Polycrisis Challenges” จัดขึ้นในวันพุธที่ 6 ก.ย. 66 ติดตามได้ทาง www.itd.or.th

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12461 วันพุธที่ 6 กันยายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 3706 facebook twitter mail
Top