บทความวิชาการ
view 805 facebook twitter mail

‘อาเซียน’ ผนึกกำลัง IPEF Supply Chain

เกี่ยวกับเอกสาร

การประชุมระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ณ เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมาชิก 14 ประเทศได้หารือถึงแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) ของภูมิภาค

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงถึงหลักการสำคัญของความตกลง IPEF Supply Chain อันเป็น1 ใน 4 เสาหลักของ IPEF ซึ่งจะมีการลงนามในอนาคตอันใกล้นี้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการรับมือจากการหยุดชะงักของ Supply Chain การสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานและภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง MSMEs ให้สามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของ Supply chain ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที  รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิก เป็นต้น

ความคาดหวังที่สำคัญภายใต้ความตกลงในการบริหารห่วงโซ่อุปทานภายใต้ความตกลง IPEF คือ ในอนาคตหากเกิดวิกฤตการณ์ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าทางบก ทางเรือ และทางอากาศได้ ประเทศสมาชิก IPEF จะไม่ถูกกีดกันการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างกัน

  IPEF Supply Chain มีกลไกขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ 1) การแต่งตั้ง IPEF Supply Chain Council เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ทำงานร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 2) การจัดตั้ง IPEF Supply Chain Crisis Response Network เพื่อแบ่งปันข้อมูลและร่วมมือกันลดผลกระทบจากการหยุดชะงักของ Supply Chain และ 3) การจัดตั้ง IPEF Labor Rights Advisory Board ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ แรงงาน และนายจ้าง ทำหน้าที่ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน การค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืน และการสร้างโอกาสให้การลงทุนของภาคธุรกิจที่ในเคารพสิทธิแรงงาน

IPEF Supply Chain นับเป็นครั้งแรกที่ปริมณฑลทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศปรับทิศทางสู่การสร้างพันธมิตรด้าน Supply Chain ผ่านกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคี โดยนวัตกรรมทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก IPEF Supply Chain เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ การระบาดของโควิด-19 ซึ่งห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงักลง ก่อให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและสภาวะข้าวยากหมากแพงกระจายไปทั่วโลก ห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นประเด็นระหว่างประเทศ และเป็นภัยความมั่นคงซึ่งแตกต่างไปมุมมองภัยความมั่นคงในอดีต เช่น การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หรือการแข่งขันสะสมอาวุธ

ประการที่สอง การเสริมความแข็งแกร่งให้กับ IPEF Supply Chain เนื่องจากจีนซึ่งเป็นฐานการผลิตและการกระจายสินค้าที่สำคัญของโลกไม่ได้เป็นสมาชิกของ IPEF จึงมิอาจปฏิเสธได้ถึงนัยในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจการเมืองเพื่อลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานของจีน

อาเซียนมี 7 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ IPEF ได้แก่ บูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ดังนั้น  IPEF Supply Chain จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายของอาเซียนในการรักษาความเป็นแกนกลางในการจัดการความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ในยุคที่การนิยามความมั่นคงมิใช่เพียงการสร้างพันธมิตรทางการทหาร มิใช่การตั้งฐานทัพเพื่อปิดล้อมฝ่ายตรงข้ามอีกต่อไป แต่เป็นการเดิมพันด้วยห่วงซโซ่อุปทานที่เกี่ยวพันกับปัญหาปากท้องของประชาชน

บทบาทอาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือส่วนภูมิภาคจึงไม่สามารถดำรงสถานะเดิม (Status Quo) ต่อไปได้ แต่อาจต้องพิจารณาถึงยุทธศาสตร์เชิงรุกในการรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานอาเซียนให้มีเสถียรภาพได้ในยุคที่ห่วงโซ่อุปทานเป็นปราการใหม่แห่งศตวรรษ

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12396 วันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 805 facebook twitter mail