บทความวิชาการ
view 1155 facebook twitter mail

อาเซียนเร่งร่วมมือพัฒนา ‘ทรัพยากรมนุษย์’

เกี่ยวกับเอกสาร

วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566  อาเซียนจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 42 (42nd ASEAN Summit) ณ เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้หัวข้อ“ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” เพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือในทุกประเด็นการพัฒนาอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ รับมือความท้าทายทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมายให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

            ภูมิภาคอาเซียนยุคหลังโควิด-19 อยู่ระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงเผชิญความท้าทายในหลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19  วิกฤติเมียนมา และการเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ลำดับที่ 11 ของติมอร์-เลสเต

            ผลจากการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของผลการดำเนินงานภายใต้พิมพ์เขียวประชาคมอาเซียน ปี 2568 และความริเริ่มใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น การเห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคและการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น

            การส่งเสริมการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนในภูมิภาค โดยสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มของความร่วมมือระหว่างหมู่บ้านกับพันธมิตรภายนอกและภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของภูมิภาค

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทุกช่วงวัยของประชากร รวมทั้งประเด็นวิกฤติที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อต้านการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ซึ่งเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยการพัฒนามาตรฐานระดับภูมิภาคในการปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์เพื่อมิให้เป็นเหยื่อซ้ำซ้อน การเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน

            สำหรับการพัฒนาเยาวชน อาเซียนได้เร่งดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ประชากรวัยทำงานของอาเซียน เพื่อการปรับตัวให้เท่าทันโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพิ่มการพัฒนาทักษะการทำงานที่ต้องการในอนาคตของภูมิภาค

            อาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมเยาวชนเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากข้อเสนอแนะในการประชุมย่อยของ ASEAN Youth Dialogue (AYD) 2023 on Digitalization for Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน

            ทั้งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การศึกษา การระดมทรัพยากร และการเสริมสร้างศักยภาพ เพื่อให้เยาวชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการทำให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาดิจิทัล และดำเนินงานตาม ASEAN Work Plan on Youth 2021-2025 รวมถึงการพัฒนาระบบการศึกษาที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการดำเนินงานเสริมสร้างศักยภาพเพื่อสังคมผู้สูงวัย และสิทธิเท่าเทียมของผู้พิการ

            การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้มีการดำเนินงานที่เข้มแข็งและคืบหน้าไปอย่างมาก มุ่งเน้นดำเนินการโดยมีแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยังถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในระยาวอีกด้วย

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12381 วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top