บทความวิชาการ
view 679 facebook twitter mail

ศักยภาพ ‘ตลาดดิจิทัล’ ประเทศเพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

ITD ได้ศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์นโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเมินศักยภาพด้านการตลาดการค้าดิจิทัลของประเทศเพื่อนบ้าน CLMV นำไปสู่การเสนอแนะมาตรการและนโยบายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสนอแนะรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างภาคธุรกิจดิจิทัล

เอกลักษณ์สินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านซื้อสินค้าทางออนไลน์จากต่างประเทศรวมทั้งจากประเทศไทย  ปัจจัยด้านการขนส่งมีอิทธิพลต่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอย่างยิ่ง ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ CLMVT มีการแข่งขันกันสูงในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การแข่งขันระหว่างผู้ขายทางออนไลน์ในประเทศที่มีสัดส่วนสูง รวมทั้งการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศที่ราคาต่ำกว่าหรือมีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นมากกว่า

อาเซียนมีความร่วมมือสำคัญ เช่น e-ASEAN Framework Agreement และ ASEAN Agreement on Electronic Commerce ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ก็มีกรอบยุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการดำเนินงานสำคัญอย่าง Cross-border E-commerce Cooperation Platform ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาภาคดิจิทัลร่วมกัน

ผลการประเมินศักยภาพตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ CLMV สามารถสรุปได้ดังนี้

            กัมพูชา : ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กำลังเติบโตน่าจับตามอง มีการพัฒนาระบบชำระเงินมากขึ้น และผู้ให้บริการโลจิสติกส์เริ่มนำเทคโนโลยี GPS มาใช้ แต่ด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการ ICT ยังต้องเร่งพัฒนา รวมถึงมีปัญหาสำคัญอย่างระบบฐานทะเบียนที่อยู่ขาดความชัดเจนเป็นปัญหาในการจัดส่งสินค้า ขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ อีกทั้ง Digital literacy ของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ

สปป.ลาว : ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระยะเริ่มต้นและคนลาวยังไม่นิยมใช้แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายออนไลน์มักอยู่ในรูปแบบไม่เป็นทางการผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ สปป.ลาวขาดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม ต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องในทุกด้าน ระบบฐานทะเบียนที่อยู่ขาดความชัดเจน และยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ

เมียนมา : ระบบนิเวศของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศยังขาดความพร้อม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ด้านโลจิสติกส์ ด้านระบบการชำระเงิน ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างมาก ขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ แต่คนเมียนมามีการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และมีแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างชัดเจน

เวียดนาม : ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตมาก ได้รับความนิยม คนเวียดนามซื้อของผ่านทางออนไลน์กันมาก ระบบนิเวศทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ICT การขนส่ง ระบบการชำระเงิน มีความพร้อม นับว่าเป็นตลาดที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก

ปัจจัยสำคัญของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนคือ การเชื่อมโยงองค์ประกอบที่จำเป็นในกระบวนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงข้อมูล ระบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ระบบการชำระเงิน รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าข้ามพรมแดนที่ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12376 วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 679 facebook twitter mail
Top