เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 9.00-15.00 น. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) โครงการวิจัยการพัฒนาการใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ GMS ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) โดยได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วนให้เกียรติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 40 ราย อาทิ สมาคมวิทยาการขนส่งและจราจร สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ คณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท คิงครอส โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท เค. เอ็น. อาร์. กรุ๊พ จำกัด บริษัท เฟรท ลิ้งค์ส เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นต้น
การประชุมดังกล่าวได้รับผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันสะท้อนข้อเท็จจริง อุปสรรค โอกาส และความท้าทายจากกรอบความตกลง GMS CBTA โดยพบว่ายังมีการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงดังกล่าวน้อยมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานตามแผนของความตกลง GMS CBTA หยุดชะงักลง ประกอบกับทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณด่านชายแดนและผู้ประกอบการภาคเอกชนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ขณะเดียวกันการเติบโตของระบบการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจีน-สปป.ลาว เป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงกรอบความตกลง GMS CBTA ให้มีความทันสมัยและตอบสนองการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ GMS
ในการนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) จะนำผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งนี้ไปพัฒนาสังเคราะห์ผลการวิจัย และต่อยอดการใช้ประโยชน์สู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่านการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันจากกรอบความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ตลอดจนการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม MSMEs เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาด CLMV และจีนได้ในอนาคตอันใกล้