เกี่ยวกับเอกสาร
หลังประสบภาวะวิกฤติโควิด-19 อาเซียนและประเทศไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยใช้ประโยชน์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว คำว่า “Soft Power” หรือ พลังอำนาจละมุน เป็นกระแสที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เพราะอาเซียนถือเป็นดินแดนที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการส่งออกสินค้าและบริการ
Soft Power เป็นแนวคิดด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นำเสนอโดยศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ ชาวสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็สื่อความถึง ความสามารถในการชักจูงใจ ทำให้ผู้อื่นมีความพึงพอใจหรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตามสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อำนาจ ซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
สินค้าและบริการที่แต่ละประเทศผลักดันให้เป็น Soft Power นั้น ส่วนหนึ่งเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่ง UNCTAD ได้ศึกษาและผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนานำแนวคิดดังกล่าวมาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศ รายงานของ UNCTAD เรื่อง Creative Economy Outlook 2022 ได้กล่าวถึงนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่าครอบคลุมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งาน ทรัพย์สินทางปัญญา ที่สัมพันธ์กับรากฐานทางวัฒนธรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำแนกเป็น สินค้าสร้างสรรค์ เช่น งานฝีมือศิลปะ โสตทัศนูปกรณ์ ออกแบบ ฯลฯ บริการสร้างสรรค์ เช่น ใบอนุญาตและการให้บริการทั้งด้านการวิจัยและการพัฒนา ซอฟต์แวร์ การโฆษณา วัฒนธรรม ฯลฯ
ข้อมูลจากรายงานนี้พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นจาก 208 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2545 เป็น 524 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ประเทศในทวีปเอเชียเป็นผู้ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์รายใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่า 308 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 โดยจีนส่งออกสินค้าสร้างสรรค์มากที่สุด คิดเป็น 32% ของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ทั่วโลก
ในอาเซียน ประเทศที่ติดอันดับ 10 ประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์มากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยสินค้าสร้างสรรค์ที่ส่งออกในปี 2563 เป็นสินค้าเกี่ยวกับการออกแบบและตกแต่งภายใน แฟชั่น เครื่องประดับ ของเล่น ผลิตภัณฑ์สื่อใหม่ งานฝีมือศิลปะ ฯลฯ
ตัวอย่างประเทศในอาเซียนที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้โดดเด่น เช่น สิงคโปร์ ใช้ความโดดเด่นการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศเพื่อดึงดูดนักธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในสิงคโปร์ เป็น Soft Power ศูนย์กลางทางการเงิน ธุรกิจ และนวัตกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
อินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวาระนานาชาติ เสนอจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนทั่วโลก รวมถึงการใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างมูลค่าจากลิขสิทธิ์เพลงออนไลน์
ประเทศไทย ได้ประกาศผลักดัน Soft Power ไทย สู่สินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม เน้นการนำเอกลักษณ์ของไทยมาสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
อาเซียนมีความร่วมมือด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมที่สามารถเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ MSMEs นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการผลิตสินค้า รวมทั้งมุ่งส่งเสริมการค้าขายผ่านออนไลน์เพื่อความสะดวกในการค้าขายระหว่างกัน อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องมุ่งเน้นคือ การให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเชื่อมโยงข้อมูลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น
ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12326 วันพุธที่ 1 มีนาคม 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”