บทความวิชาการ
view 2446 facebook twitter mail

เจาะโอกาสธุรกิจเครื่องสำอางและเสริมความงามสู่เพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

ธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจบริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และสามารถเติบโตควบคู่กันไปได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเปิดให้บริการสถานบริการเสริมความงามจะนำไปสู่การบริโภคสินค้าเครื่องสำอาง ซี่งประกอบด้วย เครื่องสำอางบำรุงผิวและเส้นผม  อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ 

ตลาดประเทศสมาชิกอาเซียนมีศักยภาพรองรับการเติบโตของธุรกิจเครื่องสำอางและเสริมความงาม เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีประชากรหนุ่มสาวในสัดส่วนที่สูง กลุ่มประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้มีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับความสวยงามและการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ตลาดธุรกิจบริการเสริมความงามและเครื่องสำอางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจเสริมความงามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กรณีประเทศไทย ธุรกิจเสริมความงามได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการในประเทศและต่างประเทศ เมื่อปี 2563 สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านศัลยกรรมเป็นอันดับที่ 14 ของโลก  ประเทศไทยยังมีผู้รับบริการเป็นชาวต่างชาติเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งเป็นผลจากชื่อเสียงด้านศัยลกรรมความงามที่ดีและมีราคาค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่ง จึงมีศักยภาพรองรับกลุ่มผู้ใช้บริการจากต่างประเทศ  โดยอาศัยชื่อเสียงและภาพลักษณ์ซึ่งถือเป็นต้นทุนธุรกิจที่สำคัญ

ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจบริการเสริมความงาม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญในภูมิภาค ประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมไทยมีความต้องการสินค้าและบริการเสริมความงามสูง  ไทยจึงสามารถคว้าโอกาสสำคัญจากการเติบโตของอุปสงค์ของภาคบริการและอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศเพื่อนบ้านได้ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นตลาดที่มีประชากรรวม 177 ล้านคน โดย 60% เป็นประชากรวัยทำงานซึ่งรายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 แม้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการร่วมกันแล้ว แต่การค้าขายสินค้าเครื่องสำอางและการลงทุนในธุรกิจเสริมความงามของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังเผชิญกับอุปสรรค เนื่องจากกฎระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสุขอนามัย  มาตรการด้านฉลาก  มาตรฐานสินค้า รวมทั้งมีระเบียบและขั้นตอนการปฎิบัติทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความซับซ้อนอยู่

ปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางประมาณ 3,052.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 22 ของโลก และอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยคือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย จีน และเวียดนาม  ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางให้หลากหลายแบรนด์ต่างชาติ  นอกจากนั้นไทยยังมีแบรนด์เครื่องสำอางสัญชาติไทยที่เจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลักมาจากรสนิยมที่คล้ายกัน ความชื่นชอบในดาราไทย และความเชื่อถือในคุณภาพสินค้าไทย

การส่งเสริมการเจาะตลาดธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเสริมความงามของไทยสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านต้องดำเนินควบคู่กันไปโดยคำนึงถึงนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในธุรกิจเสริมความงามในต่างประเทศโดยการประสานความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน  อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงกฎระเบียบที่เข้าใจง่ายโดยการจัดทำคู่มือการลงทุนในธุรกิจเสริมความงามเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดทำคู่มือการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องสำอางเป็นรายประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ควรมีกลไกส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจเสริมความงามจากต่างประเทศเดินทางมาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าธุรกิจเครื่องสำอางและเสริมความงามในประเทศไทย  รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องสำอางและเสริมความงามระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดโดยอาศัยภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12266 วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top