บทความวิชาการ
view 472 facebook twitter mail

ASEAN กับ COP27

เกี่ยวกับเอกสาร

COP27 หรือ การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 ณ ชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พ.ย. 2565 เป็นการประชุมรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่นานาประเทศร่วมกันหารือและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศภายใต้อนุสัญญานี้และความตกลงปารีส

จากรายงานการวิเคราะห์การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ปี 2565 ซึ่งเผยแพร่ก่อน COP27 วิเคราะห์ NDC ฉบับล่าสุดก่อนของประเทศต่าง ๆ ที่ได้นำส่ง ณ 23 ก.ย. 2565 นั้นมีเพียง 39 ประเทศที่มีการปรับปรุงยกระดับความเข้มข้น NDC นับจากรายงานฉบับปี 2564 ที่วิเคราะห์ NDC ที่นำส่งภายใน 12 ตุลาคม 2564 ในจำนวนนี้มี 24 ประเทศเท่านั้นที่นำส่ง NDC ฉบับปรับปรุงภายหลังการประชุม COP26 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อินโดนีเซีย

โดยผลการวิเคราะห์ NDC ยังพบว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสโดยเฉพาะการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ ซึ่งจากการประมาณการ อุณหภูมิสูงสุดในศตวรรษที่ 21 ของโลกจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.1-2.9 องศาเซลเซียส

ใน COP27 นี้ ประเด็นหลักคือแผนการดำเนินงานบรรเทาเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศของประเทศต่าง ๆ สืบเนื่องจาก COP26 Glasgow pact และเป้าหมาย NDC ที่เข้มข้นขึ้น ประเด็นการปรับตัวรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยเหลือประเทศอื่น รวมถึงประเด็น Climate Finance ที่ประเทศพัฒนาและจะให้การสนับสนุนทางการเงิน

อาเซียนเองก็เตรียมแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุม UNFCCC COP27 แสดงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญและกังวล และประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนนอกจากอินโดนีเซียที่นำส่ง NDC ทันรายงานการวิเคราะห์ NDC แล้วนั้น ในช่วงต้นเดือน พ.ย. นี้ ยังมีอีกหลายประเทศก็นำส่ง NDC ฉบับปรับปรุงยกระดับความเข้มข้นของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ วันที่ 2 ไทยได้ส่ง NDC ฉบับแรกปรับปรุงครั้งที่ 2 ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 30% อย่างไม่มีเงื่อนไข และ 40% อย่างมีเงื่อนไขในปี 2573

วันที่ 4 สิงคโปร์ส่ง NDC ฉบับแรกปรับปรุงครั้งที่ 2 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ที่ 60 MtCO2e ในปี 2573 วันที่ 8 เวียดนามส่ง NDC ฉบับปรับปรุง 2565 ยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 15.8% แบบไม่มีเงื่อนไข และ 43.5% แบบมีเงื่อนไขภายในปี 2573

การพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องได้รับความสำคัญอย่างมากต่อโลก ข้อมูลการประเมินและจัดอันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย Germanwatch แสดงให้เห็นว่า 10 อันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลก ช่วงระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2543-2562 นั้น มีประเทศสมาชิกอาเซียนติดอันดับถึง 4 ประเทศ ได้แก่ อันดับที่ 2 เมียนมา อันดับที่ 4 ฟิลิปปินส์ และอันดับที่ 9 ไทย

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งหรือประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจะได้รับผลกระทบมากตามไปด้วย แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับโลก ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้รับความเสียหายอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะที่มีความสามารถในการรับมือได้ต่ำกว่า

ในระหว่างการประชุม COP27 แน่นอนว่าการผลักดันการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่าง ๆ จะยิ่งทวีความเข้มข้นสะท้อนความสำคัญและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลก อาเซียนเองที่ยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการปรับตัวรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยิ่งต้องเร่งดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายที่จะส่งผลดีต่อโลก

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12251 วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 472 facebook twitter mail
Top