บทความวิชาการ
view 653 facebook twitter mail

เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวในภาวะฟ้าครึ้ม

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงาน Asian Development Outlook (ADO) 2022 ฉบับเดือนกันยายน 2565 จัดทำโดยธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามยูเครนและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้วเป็นปัจจัยบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องรับมืออย่างจริงจังและระมัดระวัง 

   เอดีบีประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียปี 2565 ที่ระดับ 4.3 % ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5.2 % เมื่อเดือนเมษายน 2565  และคาดว่าปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 4.9 % ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5.3 % เมื่อเดือนเมษายน 2565 เนื่องจากความแผ่วเบาเลือนลางของการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่มีสัญญาณชะลอตัว เพราะการสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลงและภาวะการเงินที่เริ่มตึงตัว

ภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเชียปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2565 แต่ชะลอตัวลงในครึ่งหลัง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง การส่งออกของจีนซึ่งเคยมีสัญญาณฟื้นตัวได้กลับเข้าสู่ภาวะชะลอตัว รวมทั้งในเกาหลีใต้  ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีสัญญาณที่ไม่สดใส  ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดโดยทั่วไป

เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ผสมผสาน เนื่องจากการเปิดตลาดเพราะการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคโดยภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประชาชนในภูมิภาคสามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ส่งผลให้ธุรกิจบริการการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพฟื้นตัว  เศรษฐกิจโดยภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนในครึ่งปีแรกของปี 2565 ขยายตัวที่ระดับ 5.3 % และคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปี 2565 จะขยายตัว 5.1%

โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ เนื่องจากการบริโภคของประชาชนปรับตัวดีขึ้นเพราะรัฐบาลประกาศเปิดพรมแดน เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากภาคการส่งออก ฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของไทย สปป.ลาว มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2565 โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าขยายตัว 2.9 % ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3 % เมื่อเดือนเมษายน 2565

ภาคการส่งออกของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากความต้องการสินค้าดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกในมาเลเซีย เวียดนาม รวมทั้งไทยเพิ่มขึ้น  การส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชาปรับตัวดีขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก

อย่างไรก็ตามมูลค่าการนำเข้าพลังงานและสินค้าอาหารที่แพงขึ้นส่งผลให้ดุลการค้าของไทยและฟิลิปปินส์ขาดดุลมากขึ้น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อดุลการค้า ขณะที่ภาคบริการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นอย่างโดดเด่นทั้งในไทย มาเลเซีย รวมทั้งกัมพูชา

เอดีบีแนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาเร่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลโดยการพัฒนานโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ  มุ่งเน้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบดิจิทัลที่เป็นธรรม การพัฒนาโครงสร้างสถาบันด้านดิจิทัลที่เข้มแข็ง ระบบกฎหมายที่มีความน่าเชือถือ และตลาดที่มีการแข่งขัน

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12216 วันพุธที่ 28 กันยายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 653 facebook twitter mail
Top