บทความวิชาการ
view 1318 facebook twitter mail

การระงับข้อพิพาททางออนไลน์ ASEAN

เกี่ยวกับเอกสาร

ปัจจุบันกิจกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ตั้งแต่การทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี (e-business) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านโซเชียลมีเดีย อีเมล และ Instant Messaging (IM) รวมถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวันบนแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิง

การดำเนินการด้านระงับข้อพิพาทเองก็ปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนยุคปัจจุบันเช่นกัน คือ การระงับข้อพิพาททางออนไลน์ หรือ Online Dispute Resolution (ODR) ซึ่งเป็นกลไกในการยุติข้อพิพาทผ่านการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์และ ICT ที่จะช่วยตอบสนองสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

โดยทั่วไป ODR จะเริ่มจากการเจรจาระหว่างคู่กรณี โดยหากไม่สามารถเจรจาจะเข้าสู่การไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง และกรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ย คนกลางจะแจ้งทางเลือกการระงับข้อพิพาท หรืออาจเป็นการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเลย ทั้งหมดนี้จะทำผ่านทางออนไลน์

ODR ถูกมองเป็นทางเลือกสำคัญที่จะนำมาใช้กับการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีทุนทรัพย์ไม่สูง โดยเฉพาะกรณีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่การพิจารณาคดีทางศาลไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงและมีความสะดวกต่อทุกฝ่ายในการดำเนินการผ่านทางออนไลน์ รวมถึงผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ ODR ได้รับความสนใจ ถูกนำไปใช้ และถูกผลักดันมากขึ้นในระดับโลก

คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL) ตระหนักถึงความสำคัญของ ODR ในฐานะกลไกระงับข้อพิพาทจากธุรกรรมข้ามพรมแดน และได้ออกบันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับ ODR ในปี 2559 อธิบายเกี่ยวกับ ODR เพื่อช่วยพัฒนาระบบ ODR ของนานาประเทศ โดยมองว่า ODR เป็นโอกาสที่ผู้ซื้อ-ผู้ขาย (ทั้ง B2B และ B2C) เข้าถึงการระงับข้อพิพาท

APEC เองก็มีการออกกรอบความร่วมมือ APEC สำหรับ ODR ในข้อพิพาท B2B ข้ามพรมแดน ในปี 2562 เพื่อช่วยธุรกิจ โดยเฉพาะ MSMEs ในการระงับข้อพิพาท B2B ข้ามพรมแดนกรณีข้อพิพาททุนทรัพย์ไม่สูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าแบบ B2B ข้ามพรมแดนผ่านการระงับข้อพิพาททางอิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็วและบังคับได้ข้ามพรมแดนในเขตอำนาจศาลต่าง ๆ

ในปี 2563 ASEAN ก็ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของเครือข่าย ODR ในอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้ผู้บริโภคยุติข้อพิพาทกับผู้ประกอบการได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ โดยการที่จะให้เครือข่าย ODR ภูมิภาคสามารถทำงานได้ แต่ละประเทศต้องมีการวางระบบ ODR ที่สามารถใช้งานได้ในระดับประเทศก่อน

ตามด้วยการออกแนวปฏิบัติของอาเซียนว่าด้วย ODR ในปี 2565 เพื่อระงับข้อพิพาทจากข้อร้องเรียน B2C ของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบการ เพื่อช่วยประเทศสมาชิกจัดตั้งหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบ ODR ประเทศให้สอดคล้องกับระดับความพร้อม นโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบภายในของประเทศ โดยปัจจุบันมีเพียงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ที่มีการใช้ระบบ ODR ในประเทศ

การตั้งระบบ ODR ในประเทศตามแนวทางของแนวปฏิบัติอาเซียนจะทำให้ระบบ ODR ในประเทศสามารถเชื่อมโยงสร้างเครือข่าย ODR ระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูง

จากการดำเนินธุรกิจซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในปัจจุบันที่มีความง่ายและสะดวกขึ้น การมีเครือข่าย ODR ระดับภูมิภาคในอาเซียนเพื่อเป็นทางเลือกการระงับข้อพิพาทจะสามารถตอบโจทย์สถานการณ์และสภาพทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงช่วยอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12201 วันพุธที่ 7 กันยายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1318 facebook twitter mail
Top