บทความวิชาการ
view 664 facebook twitter mail

ภาวะการลงทุนโลกและอาเซียน ปี 2564

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงานการลงทุนโลก ปี 2565 (World Investment Report 2022) จัดทำโดย UNCTAD ชี้ว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2564 มีมูลค่ารวม 1.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับปี 2563 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการควบรวมกิจการและการลงทุนโครงการเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการผ่อนคลายด้านการเงินของรัฐบาล  ขณะที่มูลค่าการลงทุนโครงการที่ริเริ่มใหม่ยังเพิ่มขึ้นน้อย

ภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 175,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปี 2563  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน   

สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุนรวมมากที่สุดในอาเซียน โดยมีมูลค่ารวม 99,099 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31%  อินโดนีเซียมีมูลค่ามากเป็นอันดับสองโดยมีมูลค่ารวม 20,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8%  ส่วนไทยมีมูลค่ารวม 11,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2563  เนื่องจากปี 2563 ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยมีมูลค่าติดลบ 4,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สภาพแวดล้อมการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปี 2564 เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นในภาวะที่ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  สงครามรัสเซีย-ยูเครนก่อให้เกิดวิกฤติต้นทุนการดำรงชีวิต ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกหลายพันล้านคนซึ่งต้องเผชิญกับราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น ทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง  รวมทั้งก่อให้เกิดแรงกดดันต่อภาระหนี้ครัวเรือน  นำไปสู่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาวะการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ

สงครามรัสเซีย-ยูเครนก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ นำไปสู่ 3 วิกฤติในเวลาเดียวกัน (triple crisis) ประกอบด้วย วิกฤติอาหาร วิกฤติพลังงาน และวิกฤติการเงิน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความต้องการด้านการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติ เช่น การทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิต การลงทุนเพื่อบรรเทาและปรับตัวจากภาวะโลกร้อน 

การลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าปี 2564 การลงทุนโดยรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แม้มูลค่าการลงทุนเพื่อหนุนเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขยายตัว โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นในการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ รวมทั้งการลงทุนพัฒนาสุขอนามัยประชาชน แต่ยังไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573  แม้ว่ามูลค่าการลงทุนในภาคพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนการลงทุนภาคพลังงานทดแทนของประเทศกำลังพัฒนายังต่ำอยู่

มิติด้านสังคม องค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้ให้เห็นว่าภาระการใช้จ่ายเพื่อปกป้องทางสังคมเพิ่มขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมด้วยเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ต่ำ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ การนำระบบภาษีใหม่มาใช้เพื่อส่งเสริมการลงทุนจึงมีความสำคัญมากขึ้นทั้งในมิติการสร้างรายได้ด้านการคลังของทุกประเทศ  รายงานฉบับนี้เสนอแนะให้ปฏิรูปภาษีลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อลดการแข่งขันการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศบนพื้นฐานของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12171 วันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top