บทความวิชาการ
view 760 facebook twitter mail

ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย ‘นวัตกรรมดิจิทัล’

เกี่ยวกับเอกสาร

การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation: TFA) มีหลักการพื้นฐาน ประกอบด้วย หลักความโปร่งใส หลักการทำให้ง่าย หลักการทำให้ทันสมัย หลักการประสานกัน และหลักการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ในการค้าระหว่างประเทศ

อาเซียนได้ดำเนินการโดยการลดภาษีศุลกากรสินค้าที่ค้าขายระหว่างกันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน รวมทั้งได้พัฒนาความโปร่งใสด้านการค้าโดยการจัดตั้งคลังข้อมูลการค้าอาเซียน การพัฒนาระบบศุลกากรในรูปแบบ National Single Window (NSW)  การเชื่อมโยงระดับศุลกากรของแต่ละประเทศเป็น ASEAN Single Window (ASW) และขั้นตอนสุดท้ายคือการปรับประสานด้านกฎระเบียบ และการยอมรับมาตรฐานร่วมกัน

ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนมีความท้าทายสูงและมีความสำเร็จในการดำเนินงานภาพรวมในระดับที่ดี อย่างไรก็ตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในระดับประเทศยังมีความแตกต่างกัน  เพราะการลดต้นทุนทางการค้าต้องอาศัยการลงทุน ทั้งการลงทุนพัฒนาศักยภาพบุคลากร การลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาระบบกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนั้นกระบวนการทางการค้ามีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพร้อมในระดับที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้ามีความสำเร็จที่แตกต่างกัน  ทั้งนี้จากการศึกษาของ ITD พบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับดี ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับปานกลาง ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย บรูไน  ขณะที่เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ยังต้องเร่งพัฒนา 

การนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ามีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันซึ่งการค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ในมิติอาเซียนพบว่า การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ประสบกับอุปสรรคบางประการ ทั้งด้านการประสานงานระหว่างหน่วยงาน การขาดมาตรฐาน ความสอดคล้องและความต่อเนื่อง และการขาดความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

จากการศึกษากระบวนการขั้นตอนการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าพบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการที่ไม่แตกต่างกัน ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ใช้ National Single Window เป็นช่องทางการให้บริการ ประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่น ๆ ใช้ช่องทางการให้บริการแยกออกมาเป็นการเฉพาะ

 การพัฒนาระบบการให้บริการโดยการออกเอกสารทางการค้าผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ ควรมีระบบข้อมูลขนาดใหญ่ระบบเดียวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการให้บริการ National Single Window ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในอนาคต

  ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีระบบการให้บริการทั้งการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าและการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแยกออกจากระบบ National Single Window ควรดำเนินการเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการยกระดับการให้บริการในอนาคต

อย่างไรก็ตามผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรพัฒนาความรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแต่ละกรอบความตกลงให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรีให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12166 วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top