หลักการและเหตุผล
รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor: NWLSC) โดยแผนแม่บทดังกล่าวมีบทบาทในการพัฒนาเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่เพื่อเชื่อมจีนกับประเทศตะวันตกและอาเซียน โดยโครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางยังช่วยลดระยะเวลาและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังตลาดจีน นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟยังวิ่งผ่านเส้นทาง R3A ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ไทยใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุณหมิง ทำให้โครงการรถไฟจีน-ลาว ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีตัวเลือกในการขนส่งสินค้าไปยังตลาดจีนได้มากขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่างๆ ได้ในราคาต้นทุนต่ำ และยังเป็นช่องทางในการแสวงตลาดใหม่ของผู้ประกอบการไทยได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟจีน-ลาว อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากกรณีที่สินค้าจีนอาจเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทยผ่านทางรถไฟจีน-ลาว นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าของไทยเพื่อเชื่อมกับลาวและจีนยังมีความล่าช้า รวมทั้งยังมีข้อจำกัดด้านพิธีการขนส่งสินค้าที่มีความซับซ้อนและใช้เวลานาน ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีแผนจัดกิจกรรมการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง การวางยุทธศาสตร์การค้าไทยกับรถไฟสายมังกร : โอกาส-อุปสรรค-ความท้าทาย เพื่อวิเคราะห์แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (NWLSC) ของจีน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความ ท้าทายในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการจากรถไฟไทย-ลาว-จีน โดยนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมมาพัฒนาเป็นเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อวิเคราะห์แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (NWLSC) ของจีน
2.2 เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและ บริการจากรถไฟไทย-ลาว-จีน
2.3 เพื่อนำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม มาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคการศึกษา จำนวนประมาณ 20 คน
เอกสารประกอบ
– กำหนดการ [ไฟล์กำหนดการ MS_word, PDF]
– อื่นๆ
วันที่จัดกิจกรรมและสถานที่จัดงาน
วันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยเป็นการประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน
ชื่อ/นามสกุล นายวัชฤทธิ์ บำรุงพงศ์
สำนัก พัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
โทรศัพท์: 02 216 1894-7 ต่อ 224