หลักการและเหตุผล
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 จากการเข้าร่วมยื่นสัตยาบันสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว เป็นเขตการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสร้างความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก เป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าและการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบาย Build Back Better โดยความตกลง RCEP เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว จะกลายเป็นเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30.2 ของประชากรโลก GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 33.6 ของ GDP โลก และมูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการค้าของโลก ที่สำคัญคือ ความตกลง RCEP สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ
ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยมีโอกาสได้รับ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้ เนื่องจากความตกลง RCEP สามารถสร้างประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกความตกลง RCEP จากเดิมที่เป็นแบบทวิภาคี ซึ่งจะดำเนินการลดกำแพงภาษีระหว่างกันและเอื้อประโยชน์ต่อโอกาสทางการค้า ทั้งจากสินค้าและบริการของไทย รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การเกิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่อย่างความตกลง RCEP ย่อมนำมาซึ่งโอกาสและการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านฝีมือแรงงาน และสินค้าที่มีราคาถูกจะไหลเข้ามาทั้งในช่องทางการค้าปกติ รวมทั้งจากการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวทั้งระดับยุทธศาสตร์และแผนงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันรองรับความท้าทายที่เริ่มส่งผลกระทบแล้ว ในการนี้ สคพ. จึงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญในการจัดทำ “หลักสูตรทางลัดในการเจาะตลาด RCEP” เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ผู้บริหารระดับกลาง) ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลง RCEP และสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ในการขยายตลาดการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกความตกลง RCEP ได้อย่างมีประสิทธิผล
- เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอันนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกความตกลง RCEP
กลุ่มเป้าหมาย
บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่สนใจการพัฒนาตลาดเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิกความตกลง RCEP
วันที่จัดกิจกรรม
ในวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 13.30 – 15.30 น. ในรูปแบบการประชุมออนไลน์
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
- นายนันทวุฒิ นุ่นสพ
นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์
โทรศัพท์: 0 2216 1894-7 ต่อ 222
โทรสาร: 0 2216 1898-9
โทรศัพท์มือถือ 08 5483 1841
Email: nunthawut@itd.or.th
- นางสาวปิยนุช แตงชัยภูมิ
นักวิชาการ สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์
โทรศัพท์: 0 2216 1894-7 ต่อ 223
โทรศัพท์มือถือ 08 787 5553
โทรสาร: 0 2216 1898-9
Email: piyanut@itd.or.th