หลักการและเหตุผล
ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงกระแสปฎิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (Industrial 4.0) การพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และแนวโน้มที่กระแสโลกาภิวัฒน์แบบรุนแรง (Hyper Globalization) เปลี่ยนเข้าสู่ กระแสโลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ (Reverse Globalization) ที่เสนอทั้งโอกาสและภัยคุกคามที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นมืออาชีพในเวทีการค้ายุคใหม่ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างเป็นพลวัตร ทั้งด้าน ความรู้ ระบบคิด และทักษะใหม่ๆ
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเนื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจ สำนึก ตระหนักรู้ และบูรณาการสู่การปฏิบัติร่วมกันของทุกภาคส่วน และในขณะเดียวกัน จากรายงานของ CS Global Wealth Report 2018 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1
ด้วยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีองค์ความรู้ทั้งจากต่างประเทศ และงานศึกษาวิจัยของสถาบันเองที่ได้บูรณาการประเด็นทางเศรษฐกิจ การค้าและการพัฒนาจากกระแสโลกสู่บริบทของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งได้ดำเนินการการอบรมนำร่องในเรื่องผู้ประกอบการยุคใหม่ ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (ระยะเวลา 5 ปี: 2561-2565) ที่ได้ลงนามกับ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้บุคลากรประเทศไทยสามารถพัฒนาสู่การเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการแข่งขันทางด้านการค้า และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในสาขาอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ การเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคต จึงเห็นความจำเป็น ที่ควรจะยกระดับการอบรมผู้ประกอบการยุคใหม่ ขยายผลสู่หลักสูตรการอบรม “พัฒนาศักยภาพความเป็นมืออาชีพรุ่นใหม่ด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน”
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการนำความรู้และทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านความเป็นผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กันไป
- เพื่อมีความรู้ความเข้าใจในระบบความคิด ความรู้ และกระบวนทัศน์ยุคใหม่ ด้านการค้าและการพัฒนา นำมาประยุกต์ใช้ในสายงานอาชีพของตน
- เพื่อนำองค์ความรู้ จากผลการศึกษาวิจัยที่สถาบันฯ ได้จัดทำขึ้นมาใช้ประกอบการจัดทำเนื้อหา/สาระสำคัญขอข้อมูลการอบรมให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น
- เรื่อง นโยบายกลยุทธ์การพัฒนาเยาวชนตามกรอบความเป็นผู้ประกอบการของ UNCTAD
- เรื่อง การศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนในจังหวัดชายแดน: กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (A Study on Human Resource Development in Border Province: Case Studies of Special Border Economic Zone)
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบการ จำนวน 100 คน
กำหนดการ (ไฟล์ PDF)
วันที่จัดกิจกรรม
ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2564 การอบรมออนไลน์
สถานที่จัดกิจกรรม
–
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
ชื่อ/นามสกุล นายนันทวุฒิ นุ่นสพ
สำนัก นักบริหารโครงการ
โทรศัพท์ 0 2216 1894-7 #222