ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรอบของอาเซียน และเป็นไปในลักษณะการทำงานร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยประเทศอาเซียนได้จัดทำ ASEAN ICT Master Plan หรือ AIM เพื่อเป็นแนวทางการดําเนินความร่วมมือด้านไอซีทีในภูมิภาคอาเซียน โดยแผนฉบับที่ 1 สิ้นสุดเมื่อ ปี พ.ศ. 2558 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดําเนินการตามแผนฉบับที่ 2 (AIM 2020) ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 แผนแม่บทดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อนำอาเซียนสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้ดิจิทัลอย่างมั่นคง ปลอดภัย ยั่งยืน และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันจะก่อให้เกิดประชาคมอาเซียนที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ส่วนหนึ่งของ AIM คือ การจัดตั้ง ASEAN ICT Fund เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่สามารถดําเนินโครงการ และกิจกรรมการพัฒนาไอซีทีในด้านต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว ซึ่งตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกได้สมทบเงินเท่ากันปีละ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ และจัดทําข้อเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ICT ในภูมิภาค โดยมีโครงการและกิจกรรมที่สําคัญ ๆ ได้แก่
- การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (ICT Centre of Excellence: COE) เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเป็นช่องทางในการส่งผ่านเทคโนโลยี
- กิจกรรม ASEAN ICT Awards เป็นกิจกรรมการมอบรางวัลนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประจําปีของอาเซียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความกระตือรือร้นในหมู่นักนวัตกรรมให้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารใหม่ ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น
- โครงการ ASEAN Broadband Corridor ที่ศึกษาปัจจัยสําคัญที่จะมีส่วนขับเคลื่อน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และจัดทําข้อเสนอแนะรายประเทศเพื่อวางแนวทางกระตุ้นการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศ
- การจัดทําตารางเปรียบเทียบระดับทักษะหรือคุณสมบัติทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดทําตารางฯ ภายใต้โครงการ ASEAN ICT Skill Standards Definition and Certification (Phase l and ll) ครอบคลุมทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจํานวน 7 สาขา ได้แก่ การพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development) การบริหารงาน โครงการไอซีที (ICT Project Management) การออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architect Design) การบริหารเครือข่าย (Network and System Administration) ระบบสารสนเทศ และความมั่นคงบนเครือข่าย (Information System and Network Security) การประมวลผลแบบ Cloud (Cloud Computing) และการประมวลผลแบบในเครื่องมือหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Computing)
- โครงการ ASEAN Cyberkids Camp เป็นโครงการที่จัดเป็นประจําทุกปีเพื่อกระตุ้นเยาวชนผู้เข้าร่วม โครงการให้มีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของตนเองมากขึ้น
ในการนี้ประเทศสมาชิกได้จัดตั้งศูนย์ไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Centre) ที่มีหน้าที่บริหาร จัดการกองทุน ASEAN ICT Fund และโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนเพื่อประสานงานความร่วมมือระหว่างสํานักเลขาธิการอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาให้คําปรึกษา และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการดําเนินโครงการ/กิจกรรม โดยได้เริ่มดําเนินงานตั้งแต่มีนาคม พ.ศ. 2551
ในปี พ.ศ. 2561 จํานวนทั้งหมด 15 โครงการ ประกอบด้วย 10 โครงการ ที่จะของบประมาณจาก ASEAN ICT Fund และของบประมาณจากคู่เจรจาอาเซียน 5 โครงการ และอนุมัติงบประมาณภายใต้กองทุน ASEAN ICT Fund เป็นจํานวน 412,940 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดําเนินโครงการ และเป็นงบดําเนินงานของศูนย์ ASEAN ICT Centre (ดังสรุปตามตาราง)
นอกจากนั้นในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ เมืองเสียมราฐ กัมพูชา โดยประเทศสมาชิกได้รับรองปฏิญญาเสียมราฐ (Siem Reap Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดําเนินความร่วมมือด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเน้นถึงการดําเนินการตามแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2020 เพื่อนําไปสู่การเชื่อมโยง และการดําเนินงานร่วมกันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนั้นประเทศสมาชิกได้ลงนามในโครงการ ASEAN International Mobile Roaming (IMR) Framework ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสและสนับสนุนการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามแดนอัตโนมัติสําหรับบริการประเภทข้อมูลเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสร้างผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน โดยให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อยหนึ่งรายการที่คิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายวัน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ให้บริการเจรจากันเองตามกฎหมายระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องของประเทศตน อย่างไรก็ตามกรอบดังกล่าวไม่เป็นการผูกมัดในการกํากับดูแลอัตราค่าบริการนอกเหนือจากแนวทางที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว ทั้งนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเอกสาร ASEAN International Mobile Roaming (IMR) Framework
ตาราง : โครงการและกิจกรรมที่ดําเนินงานของประเทศอาเซียน ปี พ.ศ. 2561
ลำดับ | ชื่อโครงการ | ผู้สนับสนุน |
---|---|---|
TELSOM Projects | ||
1 | Study to Develop Guides and Applications for Open and Big Data Development in ASEAN Countries | Viet Nam |
2 | ASEAN Maker Hackathon (‘Makerthon’) 2018 | Malaysia |
3 | ASEAN ICT Award 2018 | Indonesia |
4 | ASEAN Guideline for Strengthening Resilience and Repair of Submarine Cables | Singapore |
5 | ASEAN Cyberkids Camp 2018 | Brunei Darussalam |
6 | Study to Develop Best Practices Guide for Local Content Development and Support in ASEAN Countries | Viet Nam |
7 | Gap Analysis, Recommendation and Promotion on Best Practice of ASEAN e-Service Development | Lao PDR |
8 | The Capacity Building on Accelerating the Development Framework of Smart Sustainable Cities (SSC) for ASEAN countries | Viet Nam |
9 | The ASEAN Critical Information Infrastructure Protection Framework | Thailand |
10 | Develop Regional Network Security Best Practices | Indonesia |
11 | Feasibility Study on Establishing an ASEAN CERT | Singapore |
12 | The Aligning Public Policy and Regulation Framework to Promote Cloud Computing Environment | Lao PDR |
ATRC Projects | ||
13 | Opportunities and Challenges of Over-the-Top (OTT) Services’ Regulation, and recommended approaches, and principles on net neutrality | Malaysia, Brunei Darussalam |
14 | Next Generation Universal Service toward Ubiquitous Broadband Ecosystems (USO 2.0) | Indonesia, Malaysia, Thailand, Viet Nam |
Other | ||
15 | ASEAN ICT Masterplan 2020 Mid-Term Review | Indonesia |