บทความวิชาการ
view 274 facebook twitter mail

สถานการณ์ MSME อาเซียนปี 2024

เกี่ยวกับเอกสาร

           ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งรวมของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Micro, Small, and Medium-Sized Enterprises: MSMEs) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค  รายงาน Asia Small and Medium-Sized Enterprise Monitor 2024 จัดทำโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ MSMEs ในการสร้างงาน  การสร้างผลผลิต  รวมทั้งการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แม้ MSMEs เผชิญความท้าทายหลายประการ แต่โอกาสที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและการสนับสนุนจากภาครัฐยังคงเปิดกว้างสำหรับการพัฒนาในอนาคต

            MSMEs คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 98.7% ของธุรกิจทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีส่วนร่วมในจ้างงานถึง 64.6% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในปี 2023   ประเทศไทยมีการจ้างงานจาก MSMEs ถึง 70.4% ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นของภูมิภาค ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินงานในภาคบริการ เช่น การค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประเทศที่พึ่งพาการเกษตร เช่น สปป.ลาวและกัมพูชา ซึ่ง MSMEs ช่วยเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท

             แม้ MSMEs มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่การส่งออกยังคงเป็นจุดอ่อนที่ต้องพัฒนา MSMEs มีส่วนร่วมในมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเพียง 15.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของภูมิภาค ณ ปี 2023 โดยประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกที่ 13.4%  ความท้าทายสำคัญ คือ การเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นและการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมคลัสเตอร์ธุรกิจและการพัฒนามาตรฐานการผลิตระดับสากล

            การสนับสนุนทางการเงินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ MSMEs เติบโต  ปี 2023 สินเชื่อสำหรับ MSMEs คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 17% ของสินเชื่อทั้งหมดในภูมิภาค ประเทศเช่นมาเลเซียและอินโดนีเซียสามารถเพิ่มการสนับสนุนด้านสินเชื่อให้กับ MSMEs หลังวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จอย่างน่าพอใจ  อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างสปป.ลาวและฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญความท้าทายด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

            แม้ว่าสัดส่วนหนี้เสียของ MSMEs  ได้ลดลงจาก 7.3% ในปี 2019 เหลือ 5.5% ในปี 2023 แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของหนี้เสียในระบบการเงินโดยรวม นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคการเงินนอกธนาคาร เช่น สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาและบริษัทสินเชื่อรายย่อยยังมีบทบาทจำกัด

            การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับ MSMEs ในภูมิภาคนี้ หลายประเทศริเริ่มโครงการสนับสนุน เช่น การให้ทุนพัฒนาทางเทคโนโลยีในอินโดนีเซีย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศในสปป.ลาว และการอบรมทักษะดิจิทัลในฟิลิปปินส์  ทั้งนี้การสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจที่ไม่เป็นทางการเข้าสู่ระบบออนไลน์มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ MSMEs สามารถเข้าถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

            ธุรกิจสีเขียว (Green MSMEs) มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน การสนับสนุนให้ MSMEs ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น การให้ทุนสนับสนุนทางการเงินและการยกเว้นภาษี จะช่วยเพิ่มจำนวนธุรกิจสีเขียวในภูมิภาคนี้

            รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในอนาคตในการพัฒนา MSME ประกอบด้วยการพัฒนานิยาม MSMEs ที่ชัดเจนและสามารถติดตามได้ เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการเนื่องจากภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ MSMEs มีบทบาทสำคัญ การสร้างคลัสเตอร์ธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกและการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับสากล ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวและการพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมทั้งการเสริมสร้างบทบาทผู้ประกอบการหญิงเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมในเศรษฐกิจ

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12791 วันพุธที่ 11 ธันวาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 274 facebook twitter mail
Top