หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ การเชื่อมต่อสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และบริการต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งได้กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน การเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตของเทคโนโลยี ตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบ การใช้พลังงาน การปล่อยมลพิษ ไปจนถึงการจัดการขยะจากอุปกรณ์ดิจิทัล ความท้าทายด้านความยั่งยืนดังกล่าวเป็นประเด็นที่ไม่สามารถละเลยได้ เนื่องจากทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังถูกใช้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT)
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในระดับสากล โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องเผชิญกับผลกระทบทางลบจากกระบวนการดิจิทัล ในขณะที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคส่วนนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นานาประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจำเป็นต้องอาศัยการวางกรอบนโยบายที่มีประสิทธิภาพและการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นโยบายที่เกี่ยวข้องควรมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ทุกประเทศสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างทั่วถึงและยั่งยืน การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมจึงไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนานโยบาย การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับ
ด้วยเหตุนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานจัดตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับ UNCTAD และมีพันธกิจในการเป็นศูนย์กลางเพื่อให้บริการด้านการฝึกอบรม สนับสนุนงานวิจัยและ งานวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลัง การลงทุน การพัฒนา และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้แก่บุคลากรต่าง ๆ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงเล็งเห็นความสำคัญในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการรายงานประจำปี Digital Economy Report 2024 หัวข้อ “Shaping an environmentally sustainable and inclusive digital future” เพื่อให้ ประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนโยบายที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการดิจิทัล: โดยมุ่งเน้นการศึกษาและการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงาน และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน
2.2 เพื่อสร้างเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ และเสนอแนวทางที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว
2.3 เพื่อเผยแพร่รายงานประจำปี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.1 บุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.2 บุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับแนวทางและข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนได้