บทความวิชาการ
view 183 facebook twitter mail

แนวทางการพัฒนานวัตกรรม GMS-2030

เกี่ยวกับเอกสาร

การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Summit) ครั้งที่ 8 และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ย. 2567 ณ นครคุนหมิง ประเทศจีน ได้ประชุมเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีหลายประเด็นด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคที่น่าสนใจ รวมถึงการรับรองเอกสารผลลัพธ์ ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2573

ประเทศสมาชิก GMS ได้รับรองกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2573 (GMS-2030) ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่กัมพูชาในเดือนกันยายน 2564 โดยมุ่งเน้นที่จุดแข็งหลักด้านความเป็นชุมชน ความเชื่อมโยง และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยึดหลักการสำคัญที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายของ GMS-2030 คือการคว้าโอกาสในเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน พร้อมสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมีการสนับสนุนจากเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม โดยมีประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับเปลี่ยนภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น  การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจผ่านการสร้างเครือข่ายเส้นทางเศรษฐกิจ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ชนบท การส่งเสริมการเจรจาด้านนโยบายและกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการบรรลุตามแผนงานที่กำหนดไว้

สำหรับการประชุมล่าสุดที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการผนวกกลยุทธ์นวัตกรรมเข้ามาเป็นแกนหลักของการพัฒนาในอนุภูมิภาค เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ความพยายามนี้มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิก GMS ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล

ในปี 2567 GMS และอาเซียนโดยรวมมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการพัฒนาดิจิทัล จากสถิติพบว่า มูลค่าตลาดดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนคาดว่าจะสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ซและฟินเทคซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในอนุภูมิภาคนี้ยังมีการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนมากกว่า 80% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศไทยและเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในภูมิภาค การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ การเกษตร และการขนส่งได้รับการส่งเสริมมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของอนุภูมิภาค

ดังนั้นเพื่อส่งเสริมความสำเร็จของกรอบความร่วมมือ ประเทศสมาชิกควรเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เข้มแข็งขึ้น ควรเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับประชากรในกลุ่มอายุต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ โดยพัฒนาเทคโนโลยีในการชำระเงิน สู่สังคมไร้เงินสด การใช้จ่ายผ่าน QR Code ข้ามพรมแดน

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ควรให้มีการส่งเสริมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง เช่น ถนนและรางรถไฟ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงทางการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตลาดดิจิทัลในระดับภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของอาเซียนในตลาดโลก

ประเทศสมาชิกควรเน้นการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและการวิจัยนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและภาคเอกชนเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12771 วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top