บทความวิชาการ
view 373 facebook twitter mail

ปลุกชีพเมืองผี ‘Forest City’ มาเลเซีย

เกี่ยวกับเอกสาร

Forest City เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่บนเกาะที่ถมขึ้นใหม่ 4 เกาะ ตอนใต้รัฐยะโฮร์ (Johor) ติดกับสิงคโปร์ จากร่วมทุนระหว่าง Country Garden บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากจีน กับ Esplanade Danga 88 ซึ่งรัฐบาลรัฐยะโฮร์เป็นเจ้าของ สัดส่วนการถือครอง 60:40 เป็นโครงการภายใต้ Belt and Road Initiative จากการขับเคลื่อนของรัฐบาลจีน

โครงการ Forest City เริ่มประกาศเมื่อปี 2549 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 ในสมัยรัฐบาลนายกนาจิบ    Forest City ถูกวางภาพเป็นเมืองสีเขียวอัจฉริยะเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยและการทำงานชั้นเลิศ  ผสมผสานทั้งสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ประกอบด้วยที่พักอาศัยหรูหรา พื้นที่สำนักงาน สถานศึกษา ศูนย์การค้า และยังตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจ Iskandar ที่ได้รับการลงทุนทั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซีย ถือว่าเป็นทำเลทอง

โครงการ Forest City เป็นที่ถกเถียงอย่างมากจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการถมทะเลสร้างเกาะขัดกับการตลาดที่วางไว้ และยังถูกสร้างมองว่าเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนจีนชั้นกลางระดับบนมากกว่าชาวมาเลย์

อย่างไรก็ดี การตั้งเป้าที่กลุ่มลูกค้าชาวจีน ทำให้ Forest City มีความอ่อนไหวต่อนโยบายของจีนเป็นอย่างมาก เมื่อรัฐบาลจีนประกาศนโยบายควบคุมเงินตรากำหนดยอดใช้จ่ายนอกประเทศของพลเมืองจีนไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์

ประกอบกับการเมืองภายในของมาเลเซียที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการทุจริต ทำให้ Forest City กลายเป็นหนึ่งในเป้าเพ่งเล็งว่าเป็นการขายมาเลเซียให้ต่างชาติ จนนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ที่ชนะการเลือกตั้ง ประกาศห้ามขายอสังหาริมทรัพย์ใน Forest City ให้ต่างชาติ แม้ว่าจะถูกโต้แย้งว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการลงทุนใน Forest City

วิกฤติโควิด-19 ก็มีผลกระทบร้ายแรงต่อ Forest City ยิ่งไปกว่านั้น Country Garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ยังเกิดปัญหาวิกฤตทางการเงิน ทำให้ Forest City ที่เป็นการลงทุนในต่างประเทศขนาดมหาศาลของ Country Garden อยู่ในความไม่แน่นอน

แม้จะเริ่มแรกคาดการณ์ว่า Forest City จะมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 700,000 คน ภายในปี 2578 แต่ปัจจุบัน Forest City กลับถูกเรียกว่าเป็นเมืองผี  การก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 15% ของโครงการ สร้างเกาะถมทะเลเสร็จเพียง 1 จาก 4 เกาะ  มีผู้อยู่อาศัยเพียงราว 1% ของพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว โดยมีผู้อยู่อาศัยเพียงราว 9,000 คน

ต่อมาในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอันวาร์ก็มีความพยายามดึงดูดการลงทุนจากจีนกลับมา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่จะเชื่อมโยงมาเลเซียและสิงคโปร์โดยมี Forest City เป็นจุดผ่านหนึ่ง รัฐบาลยังมีแผนพิจารณาการสร้างคาสิโนเพื่อฟื้นชีวิตให้ Forest City สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2567 สภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียได้ผ่านกฎหมายเพื่อผลิกฟื้น Forest City โดยประกาศให้เป็นเกาะปลอดภาษี และมาเลเซียยังได้เปิดตัวเขตการเงินพิเศษ Forest City หรือ Forest City Financial Zone (FCSFZ) ตั้งเป้าเป็นแหล่งการเงินและธุรกิจโลก โดยต้องการดึงดูดบริษัทข้ามชาติ สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทเทค โดยมีการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี สิทธิประโยชน์แก่สถาบันการเงิน และความยืดหยุ่นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ

จากความพยายามของมาเลเซีย หากสำเร็จ Forest City จะกลายเป็นทำเลทองในการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนได้ไม่ยาก แต่ภายใต้ขีดจำกัดและอุปสรรคในการพัฒนา Forest City ที่ยังคงมีอยู่หลายประการ Forest City ก็ยังคงเป็นโครงการเผือกร้อนที่น่ากังวลแต่เต็มไปด้วยความหวัง

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12751 วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top