บทความวิชาการ
view 163 facebook twitter mail

อาเซียนกับโอกาส Fair Trade

เกี่ยวกับเอกสาร

การค้าเสรี (Free Trade) เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและทำให้เกิดผลกำไร (Profit) ด้านการค้า แต่โลกยุคใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและจริยธรรมในการผลิตสินค้ามากขึ้น การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
ในระบบการค้าโลก
โดยองค์การการค้าที่เป็นธรรมโลก (World Fair Trade Organization: WFTO) นิยามว่า เป็น “การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสังคม (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet) เป็นอันดับแรก” ซึ่งตลาด Fair Trade โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว

Fair Trade ไม่ใช่เพียงกระแสสังคม แต่เป็นมาตรฐานการค้ารูปแบบใหม่ที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมาตรฐาน Fair Trade ที่ Fairtrade International หรือ ผู้กำหนดมาตรฐานและออกใบรับรอง Fairtrade กำหนดไว้ ได้แก่ ราคาที่เป็นธรรม โดยต้องรวมถึงต้นทุนและกำไรของผู้ผลิตเพื่อการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ค่าพรีเมียม Fair Trade ที่ผู้ซื้อต้องชำระค่าพรีเมียมเพิ่มเติมจากราคาสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตใช้ในการพัฒนาชุมชน มาตรฐานแรงงาน ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากล เช่น ห้ามใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ รวมถึงจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ผู้ผลิตต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้สารเคมี การจัดการขยะอย่างถูกต้อง และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ตลาด Fair Trade โลกมีทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจจากการที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดย Euromonitor International คาดว่ามูลค่าตลาด Fair Trade โลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2571 หรือเติบโตสูงถึง 25% จากปี 2565 และหากคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) จะอยู่ที่ราวปีละ 4.1% นอกจากนี้ยังชี้ว่า สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้า Fair Trade สูงมาก และผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

อาเซียนยังมีผู้ผลิตสินค้า Fair Trade น้อยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ โดยข้อมูลสถิติล่าสุดจาก Fairtrade International ชี้ว่าในปี 2564 มีองค์กรที่ผลิตสินค้า Fair Trade ในอาเซียนเพียง 83 องค์กร (ไทย 20, เมียนมา 1, เวียดนาม 33, สปป.ลาว 2, และอินโดนีเซีย 27) หรือคิดเป็นเพียง 4.3% ของ 1,930 องค์กรทั่วโลก ซึ่ง ASEAN Foundation ระบุว่า SMEs อาเซียนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน Fair Trade และกระบวนการรับรอง รวมถึงขาดการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในการเข้าถึงตลาด Fair Trade

อาเซียนมีศักยภาพสูงด้านสินค้า Fair Trade เนื่องจากมีความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาด Fair Trade ได้ ซึ่งการได้รับการรับรอง Fair Trade จะช่วยให้สินค้าของอาเซียนโดดเด่นและแตกต่าง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ SMEs อาเซียนสามารถเข้าถึงตลาดในต่างประเทศที่มีความต้องการสินค้า Fair Trade สูง

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอาเซียน โดยเฉพาะ SMEs สามารถคว้าโอกาส Fair Trade ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยและประเทศในอาเซียนอาจดำเนินการโดยการจัดโครงการให้ความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจด้านประโยชน์และกระบวนการรับรอง การสนับสนุนทางการเงินและเทคนิค การพัฒนานโยบายและมาตรการสนับสนุน เช่น สร้างแรงจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้า Fair Trade การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตสินค้า Fair Trade ในอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมการตลาด โดยสร้างความร่วมมือกับผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคในตลาดที่มีศักยภาพสูง เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดสินค้า Fair Trade จากอาเซียน

ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12696 วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 163 facebook twitter mail
Top